"กมธ.พัฒนาการเมืองฯ" ชี้ "ไพรมารีโหวต" ควรแก้ไข-ยึดโยงประชาชน-ปลอดแทรกแซง

"กมธ.พัฒนาการเมืองฯ" ชี้ "ไพรมารีโหวต" ควรแก้ไข-ยึดโยงประชาชน-ปลอดแทรกแซง

กมธ.พัฒนาการเมือง วุฒิสภา เสนอรายงานการพัฒนาพรรคการเมือง ชี้ รธน.60 ให้พรรคตั้งยาก ยุบง่าย เสนอแก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปรับไพรมารีโหวต ด้าน "เสรี" ซัดนักการเมืองรุ่นใหม่ คิดปฏิรูปสถาบัน ทำไม่สำเร็จ

          ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณา รายงานศึกษา เรื่องกาารพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ในประเด็นการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชน ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์​ส.ว. เป็นประธานกมธ.

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานการศึกษาของกมธ.ฯ มีสาระสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  จัดตั้งพรรคการเมืองได้ยาก ยุ่งยาก ซับซ้อน แต่ยุบง่าย และพบปัญหาการบริหารจัดการด้านการเงิน และการกิจกรรมทางการเมืองตามอุดมการณ์เพื่อตอบสนองประชาชน ที่อาจนำไปสู่การครอบงำและควบรวมพรรคเล็กกับพรรคใหญ่ และกลุ่มภายในพรรคทำให้มีความขัดแย้งขาดเอกภาพในเชิงอุดมการณ์ นอกจากนั้น พรรคการเมืองไม่สามารถตอบสนองและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เต็มศักยภาพ เพราะระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผลการศึกษา มี4 ประเด็น คือ การจัดตั้งพรรคการเมือง, กระบวนการไพรมารีโหวต, การบริหารเงินและการตรวจสอบพรรคการเมือง และ บทบาทของพรรคการเมืองในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืงอของสมาชิกพรรคการเมือง

 

          โดยในรายละเอียดของเนื้อหาว่าด้วยกระบวนการทำไพรมารีโหวต หรือ เลือกตั้งขั้นต้น ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วการเลือกตั้ง ส.ส.  มาตรา 43, 45, 56, 57  พบปัญหาคือ มีค่าใช้จ่ายมาก ปฏิบัติยาก พรรคการเมืองไม่เข้าในกระบวนการ นอกจากนั้นพบว่ากระบวนการไพรมารีโหวตอาจขาดความเป็นอิสระ เพราะถูกแทรกแซงจากกรรมการบริหารพรรคและะนายทุน พร้อมเสนอให้แก้ไข  พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 48 , มาตรา 53, มาตรา 54  เพื่อให้การเลือกตั้งขั้นต้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ โดยให้ กกต. ใช้มาตรการกำกับดูแลและลงโทษอย่างเข้มงวด

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ฯ ได้เสนอแนะวิธีแก้ปัญหา คือ แก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 47 ให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้มีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประะจำจังหวัดอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และขั้นตอนการเลือกตั้งขั้นต้นให้ที่ประชุมสาขาหรือตัวแทนพรรค ดำเนินการรับผิดชอบทั้งจังหวัดหรือภาค

 

           ทั้งนี้การทำไพรมารีโหวตระยะแรก ควรกำหนดให้ทำในระดับจังหวัดก่อน ต่อไปพรรคการเมืองเป็นสถาบันมากขึ้น อาจกระจายไปสู่เขตเลือกตั้ง

         สำหรับไพรมารีโหวตที่มีปัญหากับพรรคการเมือง หากจะปรับควรทำประชามติสำรวจอุปสรรคและปัญหา พัฒนาแก้ไขระบบ เพื่อสะท้อนการเลือกผู้สมัครจากประชาชนที่แท้จริง ไม่ให้เกิดความลักลั่นระหว่างส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ควรทำไพรมารีโหวตต้องยึดโยงประชาชนในพื้นที่ และปรับสัดส่วนที่เหมาะสม ระหว่างผู้ลงคะแนนในพื้นที่ กับ ความต้องการของพรรคการเมือง  โดยอาจใช้หลากหลายวิธี ผสมผสานกัน โดยขึ้นอยู่กับศักยภาพและความเข้มแข็งของพรรคการเมือง

 

         ทั้งนี้ในตอนท้ายของการอภิปราย นายเสรี ชี้แจงว่า การพัฒนาการเมืองให้ดีนักการเมืองต้องเข้าใจบทบาทของตนเอง ไม่ใช่หมกมุ่นกับม็อบ หรือ เรียกร้องให้มีการเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ซึ่งประชาชนเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ แต่สร้างความแตกแยกให้กับประชาชน

 

         “การสร้างกลไกการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นประโยชน์ นักการเมืองยุคปัจจุบันที่หลงว่าเป็นคนรุ่นใหม่ และต้องการเปลี่ยนแปลง เขาจะทำไม่สำเร็จ นักการเมืองที่ใช้กลไกนอกสภาฯ เรียกร้องสิ่งไม่เกิดประโยชน์ คือ การทำผิดกฎหมายอย่างรุนแรงและจะถูกลงโทษทางกฎหมายและดำเนินคดี นักการเมืองที่ดี มีคุณภาพต้องรักษาประโยชน์ประชาชนทั่วประเทศและดูแลสิทธิ เสรีภาพของเยาวชน หากเข้าใจจะไม่สร้างภาระให้ประเทศและไม่ทำให้เด็กถูกดำเนินคดี” นายเสรี กล่าว.