"ชลน่าน" นำทีมยื่น2พ.ร.ป. เกณฑ์คำนวณปาร์ตี้ลิสต์ยึดคะแนนรวมหาร100

"ชลน่าน" นำทีมยื่น2พ.ร.ป. เกณฑ์คำนวณปาร์ตี้ลิสต์ยึดคะแนนรวมหาร100

"ชลน่าน" นำทีมยื่น2พ.ร.ป. เกณฑ์คำนวณปาร์ตี้ลิสต์ยึดคะแนนรวมหาร100 พร้อมปรับเกณฑ์1สาขาพรรคส่งผู้สมัครได้

ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วม ยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบ(พ.ร.ป.)รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

โดยมี นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับยื่น

โดยนพ.ชลน่าน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยจะเขียนรองรับวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเน้นมีเขตเลือกตั้งที่ติดต่อกัน ฐานจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน นอกจากนี้คือการคำนวณคะแนนที่เป็นสัดส่วนโดยตรง นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองทั่วประเทศมารวมกัน นำมาหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อคือ 100 คน ซึ่งจำนวนที่หารได้จะเป็นคะแนนเฉลี่ยในการนำมาคิดคำนวณว่าแต่ละพรรคการเมืองจะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อกี่คน ซึ่งเมื่อนำมาหารแล้วจะมีเศษจะนำเศษที่เหลือมาดูว่าพรรคการเมืองไหนเหลือเศษมากที่สุดก็นำมาเรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

 

ส่วนเรื่องหมายเลขผู้สมัครนั้นร่างพรรคเพื่อไทยเหมือนกับร่าง กกต.โดยเขียนให้ใช้หมายเลขเดียวกัน ทั้งบัญชีรายชื่อและเขตเลือกตั้ง

ส่วน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มองว่าทางรัฐบาลอาจจะไม่เสนอ แต่ทางพรรคเพื่อไทยเห็นว่ามีความสำคัญ โดยร่างของพรรคเพื่อไทยยังส่งเสริมให้มีการทำ ไพรมารี่โหวตอยู่

แต่ให้เปลี่ยนวิธีการจากการที่มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้งจึงจะมีสิทธิส่งผลสมัครได้ เปลี่ยนเป็นให้มีเพียงสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองเพียง 1 เขตก็สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตในจังหวัด นอกจากนี้ข้อจำกัดเรื่องสมาชิกพรรคการเมืองจากเดิมที่ต้องกำหนดค่าบำรุงพรรคต่อปี 200 บาท ตลอดชีพ 2000 บาท จึงเสนอให้เป็นข้อกำหนดของแต่ละพรรค ไม่ต้องมากำหนดในกฎหมาย

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ยังมองว่า การจัดทำบัตรเลือกตั้งให้เป็นหมายเลขเดียวกันทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อนั้น ไม่ใช่อุปสรรค์ในการจัดทำ เพราะเขียนขั้นตอนรองรับไว้แล้ว และสามารถเขียนในข้อกฎหมายเพิ่มเติมได้

ด้าน นายสุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อได้ยื่นแล้ว ก็เป็นไปตามกระบวนการของสภาและน่าจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมจะมีขึ้นในเดือนมกราคม และเท่าที่ทราบทุกพรรคการเมืองเห็นสอดคล้องกัน แตกต่างบ้างในรายละเอียดนิดหน่อย แต่ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะไม่มีโดยให้อิสระแต่พรรคในการยื่น