เบื้องลึก“ผู้ว่าฯหมูป่า” ล้มดีล พปชร. ปัดลงผู้ว่าฯกทม.

เบื้องลึก“ผู้ว่าฯหมูป่า” ล้มดีล พปชร. ปัดลงผู้ว่าฯกทม.

แม้เที่ยวนี้ ผู้ว่าฯหมูป่าจะปฏิเสธพรรคใหญ่ แต่ชื่อชั้น และผลงานที่ขายได้ ยังเป็นที่หมายปองของอีกหลายพรรค จึงต้องจับตาว่า เจ้าตัวจะเปลี่ยนเส้นทางเข้าสู่การเมืองเมื่อไร

ดับกระแสร้อนการเมืองด้วยตัวเอง หลัง “ผู้ว่าฯหมูป่า”ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ออกมาปฏิเสธลงสนามการเมือง ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. แต่ขออยู่ในเส้นทางราชการ จนเกษียณ

ขณะที่ชื่อของ “ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์” อยู่ในลิสต์เบอร์หนึ่งของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการ พปชร. ที่หมายมั่น ปั้นให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.

หากจำกันได้ ช่วงต้นปี 2563 ชื่อของ “ณรงค์ศักดิ์” ถูกโยนออกมาหยั่งกระแสเป็นครั้งแรก

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของ “ณรงค์ศักดิ์” กลับมาอยู่บนหน้าสื่ออีกครั้ง โดยมีข้อมูลว่า “3 ป.” ไฟเขียวเป็นแคนดิเดต พปชร. โดยมีออปชั่น หากแพ้การเลือกตั้งสามารถกลับเข้ารับราชการกระทรวงมหาดไทยได้เหมือนเดิม เพราะอายุราชการยังเหลืออีก 3 ปี

ต่อมามีกระแสข่าวเล็ดลอดจากรั้วมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ของ “พล.อ.ประวิตร” ว่าผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์สนใจข้อเสนอ แต่ยังสงวนท่าที รอประเมินสถานการณ์-กระแสก่อน

กระทั่ง การตัดสินใจนาทีสุดท้าย ผู้ว่าฯ “ณรงค์ศักดิ์” จบข่าวดีลพลังประชารัฐ ยังไม่เลือกเส้นทางการเมืองในเวลานี้ ด้วยปมคุณสมบัติของตัวเอง

ทำเอา “พล.อ.ประวิตร” และ “ขุนพลพรรค” อกหัก ผิดหวังไปตามๆ กัน โดยเฉพาะ “ร.อ.ธรรมนัส” ที่สนับสนุนสุดลิ่มทิ่มประตู เนื่องจากประเมินแล้วว่าชื่อเสียง-ภาวะผู้นำของผู้ว่าฯหมูป่า เข้าขั้นเป็นผู้ท้าชิงกับแคนดิเดตคนอื่นได้

เหตุผลเรื่อง “คุณสมบัติ” ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน กทม.ไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือ 1 ปี หรือเสียภาษีให้ กทม.ต่อเนื่องกัน 5 ปี ทำให้ชื่อของผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ต้องถูกพับเก็บลิ้นชัก

กรณีคุณสมบัติ เป็นกติกาที่ระดับผู้ว่าฯ ย่อมรู้ดีอยู่แล้ว เพราะเบื้องลึกเบื้องหลังผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ได้ถูกทาบทามมาเป็นระยะ เมื่อมีการเปิดโต๊ะเจรจาก็ไม่ขัดข้องที่จะไปตามเทียบเชิญของ “ผู้ใหญ่”

โดยมีคำแนะนำให้ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ย้ายเข้าทะเบียนราษฎรเข้ามาอยู่ กทม.ตั้งแต่ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯปทุมธานี แต่เจ้าตัวรู้จังหวะหลบหลีก เพราะประเด็นนี้สามารถยกเป็นเหตุผลในการปฏิเสธ สุภาพที่สุด

ขณะที่เหตุผลสำคัญที่ผู้ว่าหมูป่าต้องปฏิเสธ เพราะผวา“พิษการเมือง” รวมถึงปัญหา“สุขภาพ” ที่คนรอบข้างห่วงใย

การล่มดีลครั้งนี้ของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ จึงถูกจับตาว่า เส้นทางชีวิตราชการที่เหลือของเขาจะก้าวหน้าไปกว่านี้หรือไม่

แม้ว่าช่วงที่โด่งดังสร้างชื่อในฐานะผู้ว่าฯ เชียงรายจากการช่วยทีมหมูป่า ที่ผลงานเกินหน้าเกินตา “เบอร์หนึ่งคลองหลอด” ก็ยังไม่ได้โปรโมท แต่กลับถูกลดเกรด ย้ายไปนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ พะเยา ก่อนไปลำปางที่ยังทำผลงานเรื่องรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด จนประชาชนสนใจมากที่สุด

แม้เที่ยวนี้ ผู้ว่าฯ หมูป่าจะปฏิเสธพรรคใหญ่ แต่ชื่อชั้น และผลงานที่ขายได้ ยังเป็นที่หมายปองของอีกหลายพรรค จึงต้องจับตาว่า เจ้าตัวจะเปลี่ยนเส้นทางเข้าสู่การเมืองเมื่อไร