บสย.มั่นใจยอดค้ำประกันสินเชื่อทั้งปีพุ่งกว่า2.4แสนล้าน

บสย.มั่นใจยอดค้ำประกันสินเชื่อทั้งปีพุ่งกว่า2.4แสนล้าน

บสย.เผยยอดค้ำประกันสินเชื่อล่าสุดกว่า 2.34 แสนล้านบาท มั่นใจทั้งปีทำได้กว่า 2.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นยอดค้ำประกันจากพ.ร.ก.ฟื้นฟูในเฟส1และ2 จำนวน 53.2%

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ บสย.คาดว่าจะปิดยอดค้ำประกันสินเชื่อมากกว่า 240,000 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย.

โดยผลการดำเนินงาน บสย. ณ วันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา มียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 234,992 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 207,537 ราย และอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) 224,104 ฉบับ

ส่วนโครงการที่โดดเด่น 3 โครงการ คือ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อตามพ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 124,912 ล้านบาท 2.โครงการ PGS-9 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 78,799 ล้านบาท

และ 3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro4 วงเงิน 19,257 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู และโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบสย.

สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ตามพ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 1-2 คิดเป็นสัดส่วน 53.2% โดยมียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 124,912 ล้านบาท อนุมัติ LG 39,380 ฉบับ แบ่งเป็น เฟส 1 จำนวน 95,484 ล้านบาท และเฟส 29,427 ล้านบาท จำนวนลูกค้า 36,776 รายเกิดสินเชื่อจากการค้ำประกัน 127,310 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย 3.17 ล้านบาทต่อฉบับ

นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 1.20 ล้านราย เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวม 515,885 ล้านบาท ธุรกิจที่มีการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดภายใต้โครงการ ประกอบด้วย ธุรกิจบริการ 28% ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 10% และธุรกิจยานยนต์ 9%

ด้านโครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. คิดเป็นสัดส่วน 46.8% ประกอบด้วยโครงการ PGS-9 โครงการ Micro4 และโครงการอื่นๆ โดยมียอดอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อกว่า 110,080 ล้านบาท อนุมัติ LG 184,724 ฉบับ จำนวนลูกค้า 176,525 ราย

โดยมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย 0.60 ล้านบาทต่อฉบับ เกิดสินเชื่อจากการค้ำประกัน 122,038 ล้านบาท เกิดการจ้างงานรวม 1.32 ล้านราย เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 454,634 ล้านบาท ธุรกิจที่มีการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจบริการ 29% ธุรกิจการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 16% และเกษตรกรรม 10%

นางวสุกานต์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 63-64 โดยธุรกิจขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก โดย บสย.ได้ทำพันธกิจสำคัญในการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มบทบาทการเป็นเพื่อนคู่คิดให้ธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาด้านเงินทุน สภาพคล่อง โดยใช้ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี หรือ บสย.F.A. Center ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฟรี บริการลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาทางการเงิน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้คำปรึกษาทางการเงินในโครงการจับคู่กู้เงิน ความร่วมมือในโครงการส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินในพื้นที่ EEC เพื่อร่วมฟื้นเศรษฐกิจผ่านการค้ำประกันสินเชื่อให้กับ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยกลุ่มนำเข้า-ส่งออก และกลุ่ม S-curve