“กมธ.ปราบโกง” เผย ทีโออาร์ "ศูนย์ 191" มูลค่า 8 พันล้าน ของ "สตช." รั่วจริง

“กมธ.ปราบโกง” เผย ทีโออาร์ "ศูนย์ 191" มูลค่า 8 พันล้าน ของ "สตช." รั่วจริง

“อนุดิษฐ์” เผย กมธ.ปราบโกง ไล่เบี้ยโครงการศูนย์ 191 มูลค่า 8 พันล้าน ของ สตช. ที่ล้มประมูลมาแล้ว 2 หน พบข้อมูลทีโออาร์รั่วก่อนประกาศ ส่อเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย แนะ ผบ.ตร.เร่งดำเนินการให้โปร่งใส

        น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ฐานกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ  สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบในโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือ ศูนย์ 191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มูลค่าเกือบ 8 พันล้านบาทที่มีผู้ร้องเรียนว่า การดำเนินการส่อไปทางทุจริตว่า  เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.  กมธ.ฯ เชิญคณะกรรมการจัดทำเอกสารขอบเขตงาน (ทีโออาร์) ของ สตช. ที่มีส่วนสำคัญในการจัดทำเอกสารตั้งแต่ปี 2561-2564 ทั้ง 2 คณะ มาให้ถ้อยคำ รวมถึงปัญหาข้อขัดข้องของการดำเนินการโครงการศูนย์ 191 โดยกรรมการทั้ง 2 คณะได้ชี้แจงว่า โครงการฯมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยี การสื่อสาร และต้องบูรณาการความต้องการจากหลายภาคส่วน โดยโครงการนี้มีการล้มประมูลโครงการไปแล้ว 2 ครั้ง และขณะนี้สถานะของโครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำ TOR เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งที่ 3

 

           “ผู้ร้องเรียนได้กล่าวหาว่า มีการนำข้อมูลสำคัญในทีโออาร์ ซึ่งถือเป็นความลับทางราชการไปเปิดเผยให้บริษัทที่มีตัวย่อว่า SK ทราบล่วงหน้าก่อนประกาศต่อสาธารณชนเพื่อเอื้อประโยชน์และทำให้ได้เปรียบผู้แข่งขันรายอื่น ซึ่ง กมธ.ฯตรวจสอบเบื้องต้น เชื่อว่ามีข้อมูลรั่วไหลก่อนการประกาศ ทีโออาร์จริง” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

         น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ผู้ชี้แจงจาก สตช.ยืนยันว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งการให้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น โดยแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงทีโออาร์ ชุดใหม่ เพื่อจัดทำขอบเขตของโครงการสำหรับการประมูลครั้งที่ 3 โดยคณะกรรมการทีโออาร์ ชุดใหม่ได้จัดให้มีการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา ซึ่ง กมธ.ป.ป.ช.ได้ฝากข้อเสนอแนะไปยัง ผบ.ตร.ให้กำชับถึงการรักษาความลับของทีโออาร์ ที่ต้องไม่รั่วไหลก่อนการเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพราะอาจนำไปสู่การล็อคสเปค และเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายก็คงไม่พ้นการล้มประมูล และทำให้การจัดตั้งศูนย์ 191 ต้องล่าช้าออกไปเรื่อยๆ และทำให้ประชาชนต้องมีความเสี่ยงในสวัสดิภาพของชีวิตและทรัพย์สินโดยไม่จำเป็น

        น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า หากจะดำเนินการโครงการนี้ให้สำเร็จ สตช.ต้องเชิญหน่วยงานในระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทุกหน่วย ทั้งในส่วน รับแจ้งเหตุ สั่งการ เผชิญเหตุ ควบคุม ติดตาม บันทึก ตรวจสอบ และการประมวลผล ซึ่งอาจหมายถึง สตช. สำนักงานแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์บริการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพฯ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉิน วิบัติภัย หน่วยงานความมั่นคง และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมงานกันให้ครบวงจร เนื่องจากโครงการจัดตั้งศูนย์ 191 เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินระดับแห่งชาติ เป็นโครงการที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตและผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

 

          “สำหรับการจัดทำทีโออาร์ ครั้งใหม่ที่อยู่ในระหว่างการจัดทำ สมควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมากขึ้น และควรใช้หน่วยงานของรัฐที่มีความรู้ความสามารถ และเชี่ยวชาญในเรื่องการบริหารจัดการเทคโนโลยี ตลอดจนมีโครงข่ายสื่อสารเป็นผู้ดูแลระบบงานเข้ามามีส่วนร่วมด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว