กรุงศรีออโต้ เล็งปรับเงื่อนไข รับสคบ.คุมดบ.เช่าซื้อ 

กรุงศรีออโต้ เล็งปรับเงื่อนไข รับสคบ.คุมดบ.เช่าซื้อ 

“กรุงศรีออโต้” พร้อมปรับเงื่อนไขรับสคบ.คุมดอกเบี้ยเช่าซื้อ รถใหม่ 15% รถมือสอง-มอร์ไซด์ 20% หวังรัฐหาจุดสมดุล ขณะที่ยอดสินเชื่อปีนี้มั่นใจตามเป้า4.28 แสนล้าน พร้อมศึกษานำคริปโทฯมาต่อยอดธุรกิจ รอความชัดเจนดิจิทัลบาทของธปท.ต้นปีหน้า 

นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ กรุงศรีออโต้  เปิดเผยว่า  จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เตรียมเปิดประชุมรับฟังความเห็นรอบสอง ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้  โดยพิจารณาคุมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนใหม่ ที่อัตรา 15%  รวมทั้งสินเชื่อรถมือสองและรถจักรยานยนต์ที่อัตรา 20% นั้น 

เบื้องต้นมองว่าหากภาครัฐพิจารณาดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว  บริษัทต้องปรับตัวตาม โดยเราอาจต้องมีการปรับเงื่อนไขให้คุ้มกับความเสี่ยงและต้นทุนของบริษัท เช่น ปรับวงเงินเดาวน์เพิ่มขึ้น และขยายระยะเวลาผ่อนชำระ โดยพิจารณาตามกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภท 

เราเชื่อว่า   ภาครัฐต้องหาจุดสมดุลระหว่างผู้ประกอบการ และผู้บริโภค สำหรับผู้ประกอบการ ตอนนี้ไม่ว่าสถาบันการเงิน ธนาคาร สมาคมเช่าซื้อ สมาคมธนาคารไทยแต่ละบริษัทมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน  ส่วนผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เริ่มต้นทำงาน ต้องทำให้คนกลุ่มนี้มีรถใช้หรือรถเพื่อการประกอบอาชีพได้ด้วย 

"ไม่ว่าผลเฮียร์ริ่งออกมาอย่างไร เราต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่เชื่อว่า รัฐจะต้องหาจุดสมดุล และจริงๆทุกวันนี้อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ปล่อยอยู่ในตลาดไม่ได้แพงมาก และเป็นไปตามกลไกตาด  คือเป็นไปไม่้ได้ที่สถาบันการเงินจะปล่อยอัตราดอกเบี้ยสูงแล้วจะมีลูกค้ามาใช้บริการและแต่ถ้าหากมีการคุมอัตราดอกเบี้ยจริง เมื่อถึงวันหนึ่งแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เราจะต้องกลับมาเฮียร์ริ่งอีกครั้งหรือไม่" 

นางกฤติยา มองว่า ยอดปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของกรุงศรีออโต้ปีนี้คาดว่ายังเติบโตตามเป้าหมาย มียอดสินเชื่อคงค้างที่ 4.28 แสนล้านบาท หรือทรงตัวจากปีก่อน  แต่ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ พบว่า ตลาดเริ่มฟื้นตัวได้ดีตามเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว 

ดังนั้น คาดการณ์ว่า ภาพรวมยอดขายรถยนต์และสินเชื่อรถยนต์ในปี 2565 จะฟื้นตัวเป็นบวกได้ ตามภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขณะนี้เราอยู่ระหว่างการทำแผนธุรกิจปี 2565 และสนใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล อยู่ระหว่างการศึกษาที่จะนำมาใช้ต่อยอดธุรกิจซึ่งยังรอความชัดเจนดิจิทัลบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วงต้นปีหน้าก่อน 

นอกจากนี้ ทางด้านหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)เรายังคุมคุณภาพหนี้ได้ดีต่อเนื่อง ตามเป้าไม่เกิน 2% ปัจจุบันNPL อยู่ที่ 1.7% เชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจะยิ่งทำให้แนวโน้ม NPL ลดลงและเรายังมีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ไหวเป็นรายกรณีอยู่