“บิ๊กตู่” เปิดงานต้านโกง รบ.มุ่งสร้างความโปร่งใส ป.ป.ช.เคลียร์กว่า 4 พันคดี

“บิ๊กตู่” เปิดงานต้านโกง รบ.มุ่งสร้างความโปร่งใส ป.ป.ช.เคลียร์กว่า 4 พันคดี

ป.ป.ช. ร่วม ACT จัดกิจกรรม “วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล” 9 ธ.ค. “บิ๊กตู่” กล่าวเปิดงาน “รัฐบาล” มุ่งสร้างความโปร่งใส-ดันสังคมไร้ทุจริต แก้ปัญหาจริงจัง “พล.ต.อ.วัชรพล” เผยผลงานปี 64 ปิดจ็อบแล้ว 4.5 พันคดี กางแผนใหม่ใช้ชุดข้อมูลความเสี่ยงทุจริต ปูพรมสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช.จัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) โดยมีการเปิดวีดิทัศน์การประกาศเจตนารมณ์เรื่องในวันดังกล่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

 

  • “ประยุทธ์” เปิดงานยัน รบ.มีเจตจำนงต้านโกง-สร้างภาครัฐโปร่งใส

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสากลที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และสร้างความเสียหายต่อประเทศเป็นอย่างมาก แสดงถึงการขาดจิตสำนึกในการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมออกจากกัน นอกจากทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลมีเจตจำนงมุ่งที่จะสร้างภาครัฐโปร่งใส และสร้างสังคมไทยปลอดการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งสร้างจิตสำนึกและค่านิยมละอายต่อการทุจริต ประพฤติมิชอบทุกรูปแบบให้เกิดขึ้น และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐด้วยแนวคิด “คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสังคมไทย

“บิ๊กตู่” เปิดงานต้านโกง รบ.มุ่งสร้างความโปร่งใส ป.ป.ช.เคลียร์กว่า 4 พันคดี

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคเครือข่ายต่าง ๆ และได้มีการพัฒนาปรับปรุงข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้มีความทันสมัย มีความเป็นสากล และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเป็นระบบ รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์ จิตสำนึกในการไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การสร้างวัฒนธรรมสุจริต เพื่อหล่อหลอม ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนคนไทยทุกคน เพื่อให้มีความละอายต่อการกระทำผิด ไม่เพิกเฉย และไม่ยอมให้ผู้อื่นกระทำการทุจริต ที่จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

หลังจากนั้น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวประกาศเจตจำนงต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ในคอนเซ็ปต์

“ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 

1.ประกาศเจตจำนงของผู้นำประเทศและผู้นำทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปราบปรามการทุจริต 

2.ผสานพลังคนไทยและทุกภาคส่วนให้ตื่นรู้พร้อมต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ เพื่อให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต 

3.ให้คนไทยและนานาชาติรับรู้ถึงความมุ่งมั่นและการแก้ไขปัญหาการทุจริตในประเทศไทย เพื่อผลักดันการยกระดับดับนีการรับรู้การทุจริต (ค่า CPI) ให้สูงกว่าร้อยละ 50 ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

“บิ๊กตู่” เปิดงานต้านโกง รบ.มุ่งสร้างความโปร่งใส ป.ป.ช.เคลียร์กว่า 4 พันคดี

  • เผยผลงานปี 64 ป.ป.ช.เคลียร์แล้ว 4.5 พันคดี

ต่อมา พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวคำแถลงประเด็น “ผลงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ครบรอบ 3 ปี” ตอนหนึ่งว่า การทำงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นช่วงปัดกวาดจัดระเบียบภายใน โดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารและการตัดสินใจอย่างเข้มข้นในทุกภารกิจ ทั้งด้านปราบปราม ตรวจสอบทรัพย์สิน และป้องกัน คู่ขนานไปกกับการเปิดกว้างในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ส่วนผลงานด้านการปราบปรามการทุจริตในปี 2564 นั้น ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ดำเนินการเสร็จแล้ว 4,552 คดี อย่างไรก็ดีในกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ไม่ฟ้องคดี สำนักงาน ป.ป.ช. มีการฟ้องคดีเองเพิ่มขึ้น โดยคดีสำคัญที่ฟ้องเองชนะและคดีถึงที่สุดแล้ว เช่น คดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติให้เงินกู้แก่รัฐบาลเมียนมา 4,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทในเครือชินคอร์ป กรณีกล่าวหาการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (คดีหวยบนดิน) เป็นต้น

ส่วนคดีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 ดำเนินการไป 28 เรื่อง แบ่งเป็นการยื่นบัญชีเท็จ 21 บัญชี กรณีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 7 เรื่อง มีมูลค่าทรัพย์สินทีร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นเงิน 471,094,091 บาท โดยข้อมูลดังกล่าวการที่จำนวนเรื่องที่ส่งเข้าสู่ศาลมีจำนวนคดีลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการพิจารณาคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการวิเคราะห์และพิสูจน์ในเรื่องของเจตนาประกอบการพิจารณาด้วย

“บิ๊กตู่” เปิดงานต้านโกง รบ.มุ่งสร้างความโปร่งใส ป.ป.ช.เคลียร์กว่า 4 พันคดี

  • กางแผนใหม่ใช้ชุดข้อมูลประเมินความเสี่ยงทุจริต

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการจัดสร้างชุดข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เป็นปัจจุบันเพื่อนบันทึกลงในแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (Corruption Risk Mapping) โดยนำข้อมูลความเสี่ยงจากทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด นำมาวิเคราะห์ จำแนก และบันทึกเป็นชุดข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2564 ปรากฏประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นคล้ายกันในหลายพื้นที่ จำนวน 3 ประเด็น

1.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การบุกรุกป่า การรุกล้ำลำน้ำ การจัดสรรพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรกรรม การลักลอบดูดทรายในลำน้ำ ฯลฯ ที่เกิดขึ้นหลายจังหวัด

2.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ เสาไฟฟ้าประติมากรรม เสาไฟฟ้านวัตกรรม ประปาหมู่บ้าน ทางระบายน้ำ เขื่อน ฯลฯ เกิดขึ้นในหลายจังหวัด

3.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตการใช้จ่ายงบประมาณโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (เงินกู้ 4 แสนล้านบาท) อาทิ โครงการโคกหนองนา โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง หรืออุทกภัย เป็นต้น

ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ด้านการต่างประเทศ มีการประสานงานและการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะคดีสินบนข้ามชาติ ซึ่งเป็นคดีที่มีความสำคัญ เนื่องจากลักษณะการกระทำผิดซับซ้อน มีมูลค่าความเสียหายมาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมุ่งเน้นการติดตามเอาทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่ประเทศไทย ควบคู่ไปกับการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการทุจริต โดยบูรณการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ผ่านคณะกรรมการประสานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงาน อสส. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น