สรท.ชงข้อเสนอ 10 กระทรวง ดันส่งออกปีหน้าโต 8%

สรท.ชงข้อเสนอ 10 กระทรวง ดันส่งออกปีหน้าโต 8%

สรท.ทำสมุดปกขาว วิเคราะห์อุปสรรค ปัจจัยกระทบส่งออกไทยใน 6 อุตสาหกรรมหลัก ชง 40 ข้อเสนอให้ 10 กระทรวงขับเคลื่อนส่งออกไทยปี65 โต 5-8 % ขณะที่ปี 64 มีลุ้นโต 15 %

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในปี 64 มีลุ้นเติบโตได้ถึง 15%   ดูจากหลังจากยอดส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.64) มีอัตราขยายตัวที่ 15.65% มูลค่า 2.2 แสนล้านดอลลาร์ คาดว่ายอดส่งออกในเดือนพ.ย.-ธ.ค.64 จะมีมูลค่าราว 2.1-2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังมีอัตราการเติบโตดี และมียอดสั่งซื้อล่วงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเดือนต.ค.การส่งออกมีมูลค่า 22,738.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.35%

 “ตอนนี้อยู่ในกระเป๋าแน่ๆ แล้ว 12% ส่วนจะโต 13-14% ก็มีความเป็นไปได้ แต่ตอนนี้กำลังลุ้นว่าจะโตถึง 15% หรือไม่ ทั้งนี้สรท.ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์หลังพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วในระยะสั้นยังไม่กระทบ ส่วนส่งออกปี 65 คาดว่า น่าจะโต 5-8 %

 สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 64 ได้แก่ 1. ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” ซึ่ง WHO จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล และเริ่มมีการแพร่กระจายในหลายประเทศ อาทิ เบลเยี่ยม เยอรมัน อิตาลี เชค ออสเตรเลีย ฮ่องกง สหรัฐฯ อังกฤษ ซึ่งยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับสูง ขณะที่หลายประเทศเริ่มกลับมาจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกา และมีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศอาจจะล็อคดาวน์อีกครั้งซึ่งสวนทางกับช่วงเศรษฐกิจกำลังเร่งฟื้นตัว

สรท.ชงข้อเสนอ 10 กระทรวง ดันส่งออกปีหน้าโต 8%

 

 2. แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด จากเดิมที่มีแรงงานกว่า 2.8 ล้านคน เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดเหลือแรงงาน 1.6 ล้านคน หายไป 1.2 ล้านคน ซึ่งหากภาคบริการฟื้นตัวจะมีความต้องการแรงงานกว่า 8 แสนคน ขณะทีภาคการผลิตและภาคอุตสากรรมต้องการแรงงาน 4-5 แสนคน

 3. ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง ณ ท่าเรือปลายทาง โดยเฉพาะท่าเรือ Los Angeles และ Long Beach ที่พบปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวางและส่งสินค้าได้ทันตามกำหนด ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐฯ

4. ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง

 5. ปัญหาคอขวดด้านอุปทานของโลก เนื่องจากการผลิตทำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ต้นทุนการผลิตโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียและไทยต้องแบกรับภาระจากต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนค่าขนส่ง อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงกำลังซื้อผู้บริโภค และทำให้การนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มชะลอตัวลง

สรท.ชงข้อเสนอ 10 กระทรวง ดันส่งออกปีหน้าโต 8%

นายชัยชาญ กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อให้มีแนวทางในการพัฒนาการส่งออกไทยให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระยะต่อไป ทางสรท.ได้จัดทำ White Paper: Post Covid-19 Rehabilitation Plan for Export Secto เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาและอุปสรรคทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเน้นใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมการส่งออกไทยประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยางพารา  อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก  รวมทั้งมีข้อเสนอ 40 ข้อให้กับ 10 กระทรวงเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยในปี 65 ขยายตัวได้ 5-8 %

 ปัจจัยภายนอกสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1.ปัจจัยด้านการเมือง อาทิ ความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แนวคิดชาตินิยมและการปกป้องผลประโยชน์ของชาติและการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศในหลายประเทศและในหลายอุตสาหกรรม

 2. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อาทิ การเจรจาการค้าเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ระดับทวิภาคี พหุภาคี และ Global FTA โดยเฉพาะประเด็นการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าภายในกลุ่ม การกำหนดนโยบายด้านงบประมาณเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องสวนทางกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีทิศทางเติบโตมากขึ้น บทบาทค่าเงินสหรัฐต่อเศรษฐกิจ

 3. ปัจจัยด้านสังคม อาทิ สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม การเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนในสถานประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลขององค์กรธุรกิจถูกจับตามากขึ้นจากลูกค้าและสังคม แรงกดดันจากสังคมในการป้องกันความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคในสถานประกอบการ

4.ปัจจัยด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและการพัฒนาด้าน Robotic

5. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการตระหนักรู้ถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกของผู้บริโภค

6. ปัจจัยด้านกฎหมาย อาทิ การออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การบังคับกฎหมายทางด้านภาษีอย่างเคร่งครัดและครอบคลุมธุรกิจใหม่มากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันและรายได้ของภาครัฐ การผ่อนปรนกฎระเบียบและมาตรการทางการเงิน และการออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยยังมีความท้าทาย ทั้งเรื่องของความล่าช้าในการใช้ประโยชน์จากความตกลง อาทิ RCEP ความล่าช้าในการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น  การแสดงเจตจำนงเข้าร่วมการเจรจา CPTPP การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-ตุรกี และไทย-ปากีสถาน รวมถึงการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี  ปัญหาด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งปัญหาตู้คอนเทนเนอร์และระวางเรือ และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มภายในประเทศ (Local Charges) ปรับเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาความแออัดของท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ และความล่าช้าในการนำเข้าตู้สินค้าตู้เปล่า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ปัญหาการขนส่งทางอากาศ ทางถนน และทางราง ที่ยังล่าช้าในการพัฒนาระบบขนส่ง