ส.ส.ปชป.-ชาวบ้าน “อ่าวน้อย” ร้อง “ผู้ตรวจฯ” สอบปมนิคมฯสร้างทับป่าสงวน

ส.ส.ปชป.-ชาวบ้าน “อ่าวน้อย” ร้อง “ผู้ตรวจฯ” สอบปมนิคมฯสร้างทับป่าสงวน

“มนตรี ปาน้อยนนท์” ส.ส.ปชป. พร้อมตัวแทนชาวบ้านตำบลอ่าวน้อย ประจวบฯ ร้อง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ขอให้ช่วยเหลือ ปมรัฐออกโฉนดที่ดินสร้างนิคมฯทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติ “กุยบุรี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน อาคารบี ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส. ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายรวบ เปรมประสิทธิ์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลอ่าวน้อย รวมถึงผู้แทนประชาขนรวม 10 คน ได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีความเดือดร้อนของประชาชนในการยื่นขอให้รัฐออกโฉนดที่ดินในเขตพื้นที่นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี โดยมีนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน ในเบื้องต้นจะรีบนำเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักสอบสวนที่เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงโดยเร็วต่อไป

ส.ส.ปชป.-ชาวบ้าน “อ่าวน้อย” ร้อง “ผู้ตรวจฯ” สอบปมนิคมฯสร้างทับป่าสงวน

สำหรับหนังสือร้องเรียนของสภาองค์กรชุมชนตำบลอ่าวน้อย ระบุว่า ปัญหาความเดือดร้อนกรณีการยื่นขอให้รัฐออกเอกสารสิทธิ์โฉนตที่ดิน ในเขตพื้นที่นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี

เรียน เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ตามที่นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง พ.ศ.2512 โดยกรมประชาสงเคราะห์ได้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.1,น.ค.3) แก่สมาชิกนิคมผู้ที่ใด้รับการอนุมัติจัดสรรที่ดินทำกินจำนวน 5,666 ราย จำนวน 6,046 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 180,118 ไร่ และเมื่อถึงระยะตามที่กฎหมายตราไว้ในหมวด 1 บททั่วไป มาตรา 1, แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ ให้สมาชิกนิคมผู้ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์แล้วนั้น ไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา สำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบศีรีขันธ์ไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้สมาชิกนิคมได้เนื่องจากกรมป่าไม้ แจ้งว่าพื้นที่นิคมสร้างตนเองทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี จึงยังมีสมาชิกนิคมที่ยังถือครองหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.1,น.ค.3) อยู่อีกจำนวนหลายพันราย คิดเป็นพื้นที่หลายหมื่นไร่ (ข้อมูลจากนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบศรีขันธ์)

ส.ส.ปชป.-ชาวบ้าน “อ่าวน้อย” ร้อง “ผู้ตรวจฯ” สอบปมนิคมฯสร้างทับป่าสงวน

ทั้งนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลอ่าวน้อย องค์กรจัดตั้งตามกฎหมายองค์กรชุมชน สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และภารกิจตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการแก้ปัญหาที่ดินดังกล่าว วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนเข้าร้องเรียนให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน(ในขณะนั้น) มีนายธาวิน อินทร์จำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 และ นายวทัญญ ทิพยมณฑา ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 เข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขาวบ้านผู้ร้องเรียนในพื้นที่ ที่ห้องประชุมสถานสงเคราะห์ประจวบคีรีขันธ์ (บ้านประจวบโซค) ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีชันธ์ จากนั้นคณะและสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ "ป่ากุยบุรี" และแนวเขตพื้นที่นิคมสร้างตนเอง ต่อมาที่ประชุมมีมตีให้ผู้รับผิดชอบติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ให้กรมป่าไม้ดำเนินการกันเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี ที่ทับซ้อนออกจากพื้นที่นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หมวด 1 การกำหนดป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา " การเปลี่ยนแปลงเขตหรือการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กระทำได้โดยออกกฎกระทรวง และเฉพาะกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนบางส่วนให้มีแผนที่แสดงแนวเขตที่เปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนนั้นแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย

ตลอดระยะเวลาหลายปี สภาองค์ชุมชนตำบลอ่าวน้อยได้พยายามดำเนินการและประสานขอความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายมาเป็นระยะ ได้แก่ นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาเพชรบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

กระทั่งปัจจุบันซึ่งจะเข้าสู่ปี พ.ศ. 2565 สมาชิกนิคมยังคงได้รับความเดือดร้อน ที่ดินที่ถือครองและใช้ประโยชน์ไม่อาจแบ่งแยกเป็นมรดกให้ลูกหลาน หมดโอกาสในการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนรอนในการยังชีพ คณะกรรมการและสมาชิกสภาองค์กรชุมชน ได้พิจารณาแล้ว เห็นสมควรส่งผู้แทนเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือพร้อมเอกสารประกอบในการเสนอเรื่องร้องเรียนและขอรับความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง ต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ที่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 230 (1) (2) และ (3) ต่อไป