อีอีซี-สศช. ชูผลสำเร็จแผนบูรณาการ ยกระดับการทำงานร่วม รัฐ เอกชน ท้องถิ่น

อีอีซี-สศช. ชูผลสำเร็จแผนบูรณาการ ยกระดับการทำงานร่วม รัฐ เอกชน ท้องถิ่น

สกพอ. ร่วมกับ สศช. จัดแผนบูรณาการอีอีซี การพัฒนาเชิงพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นระบบ กรอบ 5 ปี ตามเป้าแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนปฏิรูปประเทศ ที่เป็นต้นแบบการสร้างการมีส่วนร่วม รัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมลงทุน ร่วมพัฒนา”

โดยที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน (สกพอ.) หรือ อีอีซี  ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดแผนบูรณาการ ตั้งแต่ปี 2561-2565 ได้มีการขับเคลื่อนงานร่วมกันกว่า 14 กระทรวง 43 หน่วยงาน ได้รับอนุมัติงบประมาณ ถึง พ.ศ. 2567 แล้ว 82,000 ล้านบาท หรือ 5% ของงบลงทุนที่ได้อนุมัติ

ซึ่งปัจจุบันได้รับจัดสรรไปแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกิดมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 924,734 ล้านบาท เกิดมูลค่าลงทุนจริงในพื้นที่อุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 728,838 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คมนาคม ขนส่ง และการท่องเที่ยว นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนคนในพื้นที่อีอีซี อาทิ โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงทางหลวงและทางหลวงชนบท 40 เส้นทางการก่อสร้างสะพานชลมารควิถี 84 พรรษา การพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ด ต้นแบบ 5G ในพื้นที่บ้านฉาง การพัฒนาทักษะบุคลากร “อีอีซีโมเดล” สร้างคนตรงความต้องการ การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

ซึ่งคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่พื้นที่อีอีซีกว่า 12,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม คิดเป็นมูลค่า 37,000 ล้านบาท   

ทั้งนี้ แผนงานบูรณาในปี 2566 เน้น “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างบูรณาการและยั่งยืน” โดยกำหนดเป้าหมายการลงทุน 500,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นไปตามแผนการลงทุนอีอีซีในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ของ สกพอ. ที่ปรับเป้าหมายการลงทุน เป็น 2.2 ล้านล้านบาท

โดยในปี 2566 ได้กำหนดแนวทางสำคัญภายใต้แผนงานบูรณาการ 4 แนวทางตามภารกิจที่สำคัญที่เชื่อมโยงส่งต่อการดำเนินงานร่วมกันในลักษณะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่

1) ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับพื้นที่เศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อ ควบคู่การวางโครงข่ายดิจิทัลเพื่อดึงทุนเอกชนรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

2) พัฒนาและยกระดับบุคลากร การศึกษา วิจัย และนวัตกรรม หลอมรวมการศึกษา พัฒนาทักษะบุคลากร สู่การปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม รองรับการวิจัยชั้นนำ พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์

3) พัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างระบบนิเวศเมืองด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เกษตรอัจฉริยะ สาธารณสุข เมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อม

4) ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว

การขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการอีอีซี ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ให้เป็นทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของ GDP ทั้งในระดับพื้นที่และในภาพรวมของประเทศ

เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งด้าน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามแนวคิด “การตลาดนำการผลิต” การท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่มีการกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่าง ๆ ทั่วถึง

การพัฒนาการศึกษาด้วยแนวคิด Demand Driven ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและระบบสาธารณสุขที่พร้อมให้บริการอย่างเต็มศักยภาพ ช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง