เปิดแผนทางรอด “บริษัทประกันโควิด” ก่อนลามล้มทั้งระบบ

เปิดแผนทางรอด “บริษัทประกันโควิด” ก่อนลามล้มทั้งระบบ

คปภ.ชี้ บ.ประกันโควิดเลือก3ทางรอด ใช้เงินกู้ยืมด้อยสิทธิมากที่สุด และหากยังมีสินทรัพย์ลงทุนเหลือยังมีขายออกมาเพิ่มเติม พร้อมจ่อเพิ่มทุนหลักพันล้าน ขณะที่ผลทดสอบวิกฤติโควิดรอบใหม่ อีก1-2สัปดาห์รู้ผลลุยแก้รายบริษัท ด้านเลขาคปภ.ย้ำเงินกองทุนบ.วินาศภัยแกร่ง

นับตั้งแต่ปี2563 จนถึงสิ้นเดือน ต.ค.2564 มีกรมธรรม์ประกันโควิด-19รวมทั้งสิ้น 44 ล้านกรมธรรม์ เบี้ยประกันภัยรวม11,000 ล้านบาท มียอดเคลมทั้งระบบอยู่ประมาณ 25,000 ล้านบาท 

โดยปัจจุบันมีประกันโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” เหลืออยู่ราว 7 ล้านกรมธรรม์ ที่ยังมีผลความคุ้มครองอยู่ ทุนประกันภัยเฉลี่ย 50,000-100,000 บาท ที่จะสิ้นสุดการรับประกันภายในเดือน มิ.ย. 2565

ขณะที่สัญญาณการแพร่ระบาดโควิด-19ในประเทศยอดผู้ติดเชื้อ จะลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง และล่าสุด ความกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ระบาดหนักในยุโรปทำให้ “ธุรกิจประกันภัย” โดยเฉพาะ”บริษัทที่รับประกันโควิดเจอจ่ายจบ 15 บริษัท” ยังนิ่งนอนใจไม่ได้

หลังจาก 15พ.ย.ที่ผ่านมานี้ ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้หารือร่วมกับนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย  เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม

จำเป็นต้องใช้ ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อ “ประเมินเสี่ยง” แบบเจาะลึกรายบริษัท ถึงจะสามารถพิจารณาได้นั้น

บ.ประกันโควิดเลือก3ทางรอด

เงินกู้ยืมด้อยสิทธิ-ขายหุ้น-เพิ่มทุน

“ชญานิน เกิดผลงาม” ผู้ช่วยเลขาธิการสายพัฒนามาตรฐานการกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ 3บริษัทประกันโควิด ได้แก่ สินมั่นคงประกันภัย ไทยประกันภัย และเดอะวันประกันภัย เข้าร่วมโครงการผ่อนผันปัญหาด้านสภาพคล่องที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด โดยยื่นแผนเข้ามานั้นทั้ง3บริษัทประกันโควิดยังมีแนวโน้มเชิงบวก 

พบว่า แนวทางที่ 3บริษัทประกันโควิดใช้แก้ไขปัญหาสภาพคล่องและมีมูลค่ามากที่สุด คือ “การใช้เงินกู้ยืมด้อยสิทธิ” เนื่องจากตามเงื่อนไขมาตรการผ่อนปรนของคปภ.ให้นับเป็นเงินกองทุนได้  

รองลงมาหากยังมีสินทรัพย์ลงทุนเหลือ ยังคงมี”การขายสินทรัพย์ลงทุน” เพิ่มเติมอีกบางส่วน และกำลังพิจารณา ”การเพิ่มทุน” จากผู้ถือหุ้นเพิ่ม 

คปภ.ชี้อีก1-2สัปดาห์ลุ้นผล
ทดสอบวิกฤติโควิดรอบใหม่

ส่วนกรณีที่ให้15บริษัทประกันภัยโควิด นำส่งข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาทดสอบภาวะวิกฤติ ประเมินความทนทานของรายบริษัท และระบบประกันภัยภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจำลองสำหรับการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกครั้ง

“ชญานิน”กล่าวว่า ผลการทดสอบภาวะวิกฤติรอบใหม่ จะสรุปผลชัดเจนหลังจากนี้ 1-2สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนำผลสรุปและสิ่งที่คปภ.ตั้งข้อสังเกตปัญหาเข้าไปหารือเป็นรายบริษัท หาแนวทางการแก้ไขร่วมกันต่อไป

“ข้อมูลที่บริษัทประกันรายงานเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนยอดเคลมและกรมธรรม์ที่ยังไม่สิ้นสุดความคุ้มครองรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการทำประกันภัยต่อ เพื่อติดตามผลกระทบเชิงระบบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยหยุดชะงักหรือไม่และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่ แต่การทดสอบที่ผ่านมาจนถึงเดือนส.ค.2564ยังพบผลกระทบจำกัดเพียง3บริษัทดังกล่าว “

อย่างไรก็ตามคปภ.ไม่ได้นิ่งนอนใจในช่วงเวลานี้ นโยบายคปภ.ยังให้บริษัทประกันภัยโควิด ทดสอบประเมินตัวเองตลอดเวลา ถึงความสามารถการรับประกันและยอดเคลมที่จะเกิดขึ้นไปจนถึง มิ.ย.2565 ซึ่งเป็นช่วงที่กรมธรรม์ประกันโควิดจะสิ้นสุดลง

หากมีประเด็นปัญหาเพิ่มเติมให้เข้ามาปรึกษาเพื่อร่วมกันแก้ไขได้ทันที  นอกจากอนุญาตบริษัทที่ขายประกันโควิด“เจอจ่ายจบ” เสนอทางเลือกที่น่าสนใจในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์โควิดเดิม หรือตามกรมธรรม์ภัยอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ ลูกค้าต้องสมัครใจเท่านั้น

“3 บ.ประกันโควิด”จ่อเพิ่มทุน 

“สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ขณะนี้ทางไทยประกันภัย ยื่นแผนเพิ่มทุนมูลค่า 5,000 -6,000 ล้านบาทมาแล้ว ส่วนอีก 2 รายที่เหลือกำลังยื่นเพิ่มทุน

ตอนนี้ยังไม่พบปัญหาเชิงระบบระดับเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบยังเข้มแข็ง สิ้นเดือน ส.ค. 2564 อยู่ที่ 194,379 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี คปภ.ได้มีการประเมินความเสี่ยงต่อไปด้วยว่า หากเกิดโควิดระลอกใหม่จะทำให้เศรษฐกิจที่แท้จริง (real economy) และอุตสาหกรรมประกันทั้งระบบเกิดการหยุดชะงักหรือไม่

ตอนนี้เราอาจต้องประเมินสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดเป็นระยะ ๆ ว่าจะเพิ่มแรงขึ้นไปถึงจุดที่มีบริษัทประกันกลุ่มหนึ่งที่มีขนาดใหญ่พอ หรือมีความเชื่อมโยงบริษัทประกันภัยอื่น หรือระบบการเงินและภาคเศรษฐกิจแท้จริงว่าจะมีผลมากน้อยแค่ไหน ที่จะทำให้ระบบหยุดชะงักและผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีผู้บริหาร คปภ. และคณะกรรมการ คปภ. (บอร์ด) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาร่วมพิจารณา

ส.วินาศภัย หวั่น'ประกันโควิด’

เสี่ยงกระทบเชิงระบบ 

“อานนท์ วังวสุ” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวว่า  “สถานการณ์วิกฤติจากการรับประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ” ด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน รวมถึงความเป็นไปได้ในการเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทำให้คาดการณ์ว่าค่าสินไหมทดแทนสะสมจนถึงสิ้นปี 2564 จะเพิ่มสูงถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด ซึ่งอัตรานี้เป็นค่าเฉลี่ยของทุกบริษัท ฉะนั้นอาจมีบางบริษัทที่มีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนไปแล้วเป็นจำนวนมากและอาจเพิ่มสูงถึง 60-70% ของเงินกองทุน

หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

“ยอดเคลมที่ผ่านมา  หากรวมบริษัทเอเซียประกันภัยมีจำนวน 37,000ล้านบาท คาดว่ายอดเคลมจะทะลุ 40,000ล้านบาทแน่ในสิ้นปี2564 ซึ่งคาดว่าจะกินเงินกองทุนของบริษัท 30%จากเกณฑ์กำหนดไว้ไม่เกิน 10%ของเงินกองทุน คิดเฉพาะ 16บริษัทส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่ง มองว่า เป็นความเสี่ยงเชิงระบบแล้ว โดยยังมีกรมธรรม์ที่จะครบสัญญาเดือนมิ.ย.ปีหน้า ถ้าโควิดแผลงฤทธิ์บริษัทประกันภัยไทยจะถูกกระทบอย่างมาก ขณะที่เงินกองทุนที่มี 5,700ล้านบาท เป็นหนี้เก่าของบริษัทที่เพิกถอนไปแล้ว 2,000 ล้านบาท และบริษัทเอเชียประกันภัยอีก 4,500ล้านบาท" 

อีกทางรอด จี้ยกเลิกประกันโควิด “เจอจ่ายจบ”

ดังนั้น หากการติดเชื้อดังกล่าวของผู้ที่มีประกันภัยโควิด- 19 แพร่ไปยังประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน อาจก่อให้เกิดการระบาดและคลัสเตอร์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของแผนการเปิดประเทศได้ ท้ายสุดแล้ว การ”ยกเลิกคำสั่งห้าม” ยกเลิกประกันภัยโควิดแบบ เจอจ่ายจบ น่าจะเป็นทางออก

บริษัทประกันภัยเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนาในการเอาเปรียบหรือทอดทิ้งผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด แต่เป็นความจำเป็นและเป็นการบริหารความเสี่ยงที่พึงกระทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบกับผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบหากบริษัทที่รับประกันภัย โควิด-19  ต้องปิดกิจการเพิ่มอีกในอนาคต

นอกจากนี้แล้ว หากบริษัทประกันภัยต้องปิดกิจการลง ก็จะส่งผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ประเภทอื่นๆ ของบริษัทประกันภัยซึ่งไม่มีสิทธิรับเงินจากกองทุนประกันวินาศภัย เช่น โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ ตัวแทน นายหน้า พนักงาน และเจ้าหนี้ประเภทอื่นๆ ของบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยจึงอาจมีความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจดังกล่าวในอนาคตเพื่อจำกัดความเสียหายไม่ให้เกิดในวงกว้าง และรักษาเสถียรภาพของระบบประกันภัยไว้