“ทิพยประกันภัย” มั่นใจรับโอนประกันโควิดไม่กระทบพอร์ต เชื่อปี 64 รายได้โต

“ทิพยประกันภัย” มั่นใจรับโอนประกันโควิดไม่กระทบพอร์ต เชื่อปี 64 รายได้โต

“ทิพยประกันภัย” เผยรับโอนประกันโควิดจาก “เอเชียประกันภัย” ไม่กระทบรายได้-ฐานะการเงิน เหตุเปลี่ยนใช้เงื่อนไขเดียวกับบริษัท ชี้แนวโน้มธุรกิจไตรมาส 4/64 สดใส มั่นใจปีนี้รายได้โต พร้อมปิดดีล M&A 3 ราย ภายในสิ้นปี

นายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทิพยประกันภัย เปิดเผยว่า ภายหลังบริษัทรับโอนประกันโควิด-19 จากบริษัทเอเชียประกันภัย ปัจจุบันลูกค้าทยอยโอนกรมธรรม์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการโอนเข้ามาล็อตใหญ่หลักหมื่นราย

อย่างไรก็ดี การรับโอนประกันดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานหรือฐานะการเงินของบริษัท แม้รูปแบบประกันภัยเดิมของลูกค้าจะเป็นแบบ "เจอ จ่าย จบ" แต่เมื่อรับโอนเข้ามาแล้วจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขกรมธรรม์โควิด-19 ของบริษัท กล่าวคือ ครอบคลุมกรณีโคม่า วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท

สำหรับธุรกิจในไตรมาส 4 ปี 2564 มีแนวโน้มดีขึ้น ภายหลังรัฐบาลผ่อนคลายให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ส่งผลให้ธุรกิจฐานรากและการลงทุนสามารถขยับขยายได้มากขึ้น ส่งผลบวกมายังธุรกิจประกันภัย โดยเชื่อว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตจากปีก่อน

นอกจากนี้ พบว่าประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยมากขึ้น โดยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่ายอยดขายประกันภัยเติบโตขึ้นแทบทุกหมวด ในส่วนของผู้บริโภคเองก็พิถีพิถันในการเลือกซื้อประกันภัยมากขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่เลือกซื้อจากเบี้ยประกันภัยที่ถูกที่สุด รวมถึงพิจารณาความแข็งแกร่งของบริษัทและการบริการมากขึ้น

ขณะที่แผนการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภายหลังจัดตั้ง บริษัท ทิพย ไอเอสบี จำกัด (TIP ISB) เพื่อเป็นกลุ่มธุรกิจที่มาสนับสนุนธุรกิจประกันภัย (Insurance Suppported Business) บริษัทเตรียมปิดดีลควบรวมกิจการ (M&A) 3 ราย ภายในปีนี้

โดยธุรกิจที่มุ่งเน้น ได้แก่ 1. ธุรกิจจัดการการเคลม (Claim Management) 2. ธุรกิจตัวแทนนายหน้า (Broker) และ 3. ธุรกิจพัฒนาบุคลากร (Training) 

สำหรับภาพธุรกิจในปี 2565 บริษัทมีมุมมอง 2 แบบ โดยเชื่อว่าหากเปิดประเทศแล้วสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดี จะส่งผลให้ธุรกิจในภาพรวมดีขึ้น และส่งผลบวกต่อธุรกิจประกันภัย แต่หากไม่สามารถควบคุมโควิด-19 และต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง คาดว่าเศรษฐกิจจะทรุดหนัก ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยไม่มีการเติบโต

สำหรับผลิตภัณฑ์ของทิพยประกันภัย บริษัทหันมาเน้นประกันภัยส่วนบุคคล (Personal Line) มากขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายหรือเบี้ยประกันภัยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 ยังเติบโตดี 17% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเติบโตของประกันภัยรายย่อย

ทั้งนี้ สัดส่วนพอร์ตประกันภัยของบริษัทปัจจุบัน ได้แก่ ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 40% ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ (AH) 40% และประกันภัยรถยนต์ 20%

โดยเชื่อว่าในอนาคตสัดส่วนพอร์ตประกันภัยของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าประกันภัย AH จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการประกันภัยสุขภาพที่เพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มอาชีพอิสระ ที่เดิมไม่ได้ตระหนักถึงการประกันสุขภาพ หรือกลุ่มข้าราชการ ที่มองว่าสวัสดิการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ

ขณะที่ประกันภัยการท่องเที่ยว จากเดิมมีสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ในช่วงโควิด-19 พบว่า พอร์ตประกันภัยท่องเที่ยวแทบจะไม่มีการเติบโต สวนทางกับประกันภัยสุขภาพและประกันภัยอุบัติเหตุที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนประกันภัยรถยนต์ทรงตัว

เมื่อสอบถามถึงสัดส่วนประกันภัยของชาวต่างชาติ ภายหลังรัฐบาลประกาศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องทำประกันสุขภาพก่อนเดินทางเข้าประเทศ นายสมพร กล่าวว่า ในอนาคตคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับพอร์ตรวมของบริษัทยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

โดยปัจจุบันพอร์ตประกันภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ หรือน้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับพอร์ตประกันภัยสุขภาพทั้งหมด และมีมูลค่าเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 200-300 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยรวม 2.5 หมื่นล้านบาท