คลังทุ่มงบลงทุน 1 ล้านล้านบาท ดันจีดีพีปี 65 เติบโต 4%

คลังทุ่มงบลงทุน 1 ล้านล้านบาท ดันจีดีพีปี 65 เติบโต 4%

"อาคม" รมว.คลังเผย ไทยเตรียมงบลงทุน 1 ล้านล้านบาท สนับสนุนเศรษฐกิจปี 65 เติบโตตามเป้าหมาย 4% พร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ-สังคม ชี้เพดานหนี้ 70% ไม่น่ากังวล ไทยมีความสามารถพร้อมจ่ายคืนหนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน “Thailand Post COVID-19: Rain or Sunshine?” จัดโดยสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และธนาคารกสิกรไทยและหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ว่า รัฐบาลเตรียมงบลงทุนในปี 2565 มูลค่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตตามเป้าหมาย 4%

โดยการลงทุนดังกล่าวมาจากโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โครงการการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โครงการลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) โครงการกู้เงินเพื่อการพัฒนา (Development Project Loan) รวมถึงแหล่งเงินกู้ยามฉุกเฉิน

สำหรับการลงทุนของรัฐบาลยังมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Infrastructure) อาทิ โครงการรถไฟฟ้า โครงการอีอีซี และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม อาทิ โครงการสนับสนุนการจ้างงานของผู้สูงอายุ ภายหลังประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีแผนสนับสนุนด้านภาษีสำหรับบริษัทที่จ้างงานกลุ่มคนวัยเกษียณอายุ เช่น กลุ่มคนอายุระหว่าง 60-70 ปี

นอกจากโครงการลงทุนทั้ง 2 รูปแบบเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแตะระดับ 4% จะต้องเป็นการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ซึ่งรัฐบาลจะยังคงใช้จ่ายเงินเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนระดับฐานรากเพื่อให้มีรายได้ที่ดีขึ้น

ส่วนประเด็นเพดานหนี้ต่อจีดีพีที่ปรับขึ้นแตะระดับ 70% นั้น นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้กังวลต่อระดับเพดานดังกล่าว เพราะให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระคืนหนี้มากกว่า ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (DSR) ของประเทศปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่มีปัญหาในการจ่ายคืนหนี้ทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 ประเทศไทยมีงบประมาณสำหรับดำเนินนโยบายการเงินราว 6 พันล้านบาท ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงที่ 280 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9 ล้านล้านบาท) ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และยังมีพื้นที่ในการดำเนินนโยบายทางการคลัง

สำหรับแนวโน้มนโยบายการคลังในระยะข้างหน้าเพื่อสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมตามกระแสโลกนั้น รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ PM 2.5 ซึ่งเป็นมลภาวะที่เกิดจากมนุษย์ ทั้งในรูปแบบการรับมือและการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และ PM 2.5 ส่วนใหญ่มาจากภาคการขนส่ง ซึ่งในส่วนของนโยบายทางการคลัง ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตผ่านนโยบายทางภาษี