พบเชื้อ "โควิด-19" ในท่อน้ำทิ้งเท่าตัวเลขผู้ป่วยจากขยะติดเชื้อ

พบเชื้อ "โควิด-19" ในท่อน้ำทิ้งเท่าตัวเลขผู้ป่วยจากขยะติดเชื้อ

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) เผย พบเชื้อ "โควิด-19" ในท่อน้ำทิ้งเท่ากับตัวเลขผู้ป่วยจากขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะที่ "ตรวจโควิด" ATK

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นการทิ้งขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะที่ "ตรวจโควิด" ATK ที่มีจำนวนที่มากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะตรวจเจอเชื้อโควิด-19 ในบ่อน้ำเสียหรือท่อน้ำทิ้ง

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เปิดรับอาสาสมัคร "ฉีดวัคซีนเข็ม 3" ไฟเซอร์ เช็คเงื่อนไขที่นี่

- ด่วน! ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 6,559 ราย ตาย 64 ราย ATK อีก 2,806 ราย

 

ข้อความจาก "หมอยง" ระบุว่า โควิด-19 ขยะติดเชื้อ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะนอนโรงพยาบาลและมีส่วนหนึ่ง จะแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม จะเกิดมีขยะติดเชื้อเป็นจำนวนมาก

 

ในระยะหลังมีการทำ ATK และป้ายจมูกกันเป็นจำนวนมาก ก็จะเกิดขยะติดเชื้อเป็นจำนวนมากเช่นกันลองนึกภาพ ATK เป็นจำนวนหลายล้านชิ้น โอกาสที่เชื้อจะหลุดลงท่อน้ำทิ้งหรือในขยะที่ทิ้งเป็นประจำ ก็จะทำให้มีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ได้ 

 

ทีมของอาจารย์ ดร.จตุวัฒน์ แสงสานนท์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาหาพันธุกรรมของไวรัส โควิด-19 จากน้ำที่บ่อบำบัดน้ำเสียในกรุงเทพฯ สามารถพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ มีความสัมพันธ์กับอัตราการระบาดของโรคในผู้ป่วยแต่ละวัน

 

ขณะที่ทำการศึกษาจำนวนผู้ป่วยยังมีจำนวนน้อย อย่างมากสุดเป็นหลักร้อยต่อวัน แต่เมื่อผู้ป่วยเป็นหลักหมื่นต่อวัน การตรวจน่าจะพบมากกว่านี้อีกมาก

 

 

จากข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อเตือนใจอย่างดียิ่ง สำหรับทุกคนในการกำจัดขยะติดเชื้อให้ถูกต้อง โดยเฉพาะควรจะต้องมีถุงแดงแยกเก็บขยะติดเชื้อ ในขณะที่ยังไม่มีการแยกทิ้งขยะให้ถูกต้อง ทาง กทม.เองก็น่าจะมีการแยกขยะ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคและมีการทำการกักตัวที่บ้าน

 

การทำลายเชื้อโรคก่อนทิ้งก็จะเป็นวิธีออกทางหนึ่ง ในการตรวจ ATK แต่ละครั้งอุปกรณ์การตรวจต่างๆควรทำลายเชื้อเสียก่อน เช่น ใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาล้างห้องน้ำ sodium hypochlorite ฆ่าเชื้อเสียก่อนที่จะทิ้ง

 

สำหรับบ้านเราแม้กระทั่งผ้าอ้อมเด็กที่เคยเสนอแนะ โดยเฉพาะโรคท้องเสียไวรัส rota และ noro ที่มักจะระบาดในหน้าหนาวในเด็กๆ การทิ้งผ้าอ้อมเด็กควรจะทำลายเชื้อเสียก่อน ด้วยวิธีการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือแยกขยะได้จะเป็นการดียิ่ง

 

ทาง กทม. ก็น่าจะมีวิธีการแยกขยะติดเชื้อ ให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป ในการแยกขยะและการทิ้งขยะให้ถูกต้อง จะเป็นทางออกวิธีหนึ่งในการลดการระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นภาวะปกติ หรือในช่วงมีการระบาดของโรคติดต่อ

 

CR เฟซบุ๊ก หมอยง