OR กางแผนปี 65 ผนึกพันธมิตรธุรกิจ ปรับโครงสร้างรับโลกหลังโควิด-19

OR กางแผนปี 65 ผนึกพันธมิตรธุรกิจ ปรับโครงสร้างรับโลกหลังโควิด-19

OR เปิดแผนปี 2565 เกมธุรกิจต้องปรับตัวรับโลกหลังโควิด-19 ผ่านกลยุทธ์ “ซินเนอร์ยี” ผนึกพันธมิตรขยายในและต่างประเทศ พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ผุดธุรกิจ “โมบิลิตี้-ไลฟ์สไตล์” รับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า สำหรับภาพอนาคตธุรกิจในปี 2565 ยอมรับว่าบริษัทต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อรองรับการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับอีกหลายธุรกิจ เพราะเชื่อว่าโลกในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้ทุกองค์กรต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด

โดยกลยุทธ์การเติบโตในปีหน้ายังเน้นเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตร หรือที่เรียกว่ากลยุทธ์ Synergy ทั้งพันธมิตรในไทยและต่างประเทศ เพราะมองการขยายธุรกิจด้วยกำลังของบริษัทอาจไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่คาดการณ์ไม่ได้ อีกทั้งมองการร่วมมือกับพันธมิตรจะเป็นโอกาสให้บริษัท พันธมิตรรายใหญ่ และพันธมิตรรายเล็กระดับเอสเอ็มอี สามารถเติบโตไปพร้อมกัน

OR แผนธุรกิจปี 2565

“จากดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้น โลกข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปแน่นอน ผู้บริโภควันนี้พฤติกรรมเราคาดการณ์แน่นอนไม่ได้ เราจึงมีการปรับเปลี่ยน 2 กลยุทธ์หลัก จากทุกวันนี้เรามีธุรกิจค้าน้ำมัน หรือธุรกิจพลังงานยานยนต์ (Oil Ecosystem) แต่ข้างหน้าพลังงานสะอาดเริ่มมา และมามากขึ้น ดังนั้น บริษัทต้องปรับเปลี่ยนทิศทางธุรกิจเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไป”

ในส่วนธุรกิจน้ำมัน บริษัทจัดตั้งกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์คนเดินทางในอนาคต (Mobility) เพื่อใช้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวรองรับการเคลื่อนไหวของคนทั้งในปัจจุบันและอนาคตอีกหลายสิบปีข้างหน้า เช่น การเข้ามาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นต้น จากเดิมผู้บริโภคยังใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงยานยนต์เป็นหลัก แต่กระแสของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น

อีกหนึ่งธุรกิจหลักของบริษัทซึ่งเดิมเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีก (Retail) บริษัทจัดตั้งกลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในอนาคต (Lifestyle) โดยต่อยอดจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ แต่ในอนาคตธุรกิจกลุ่มนี้จะเน้นขยายให้ตอบโจทย์ความเป็นอยู่และชีวิตของผู้คนมากขึ้น ผ่านการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค

“ลำพังพลังและศักยภาพของบริษัทไม่สามารถไปสู่สิ่งนั้นได้ เพราะเรายังมีจุดอ่อนหลายเรื่อง แต่บริษัทใหญ่ๆ รวมถึงเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพแต่ละเซกเมนต์ มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน หากเรามา Synergy ร่วมมือกัน ก็จะทำให้การปรับตัวบนธุรกิจที่เรามีทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรอบบ้าน (CLMV) เป็นโอกาสให้กลุ่มธุรกิจและพันธมิตรมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับเรา”

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยระยะต่อจากนี้ นางสาวจิราพร กล่าวว่า ภายหลังประเทศไทยเดินหน้าฉีดวัคซีนตามแผน ซึ่งคาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย 70% ของประชากรตามที่รัฐคาดหวังเอาไว้ ส่งผลบวกต่อกลไกเศรษฐกิจสำคัญอย่างท่องเที่ยวและการบริการ ซึ่งเชื่อว่าจะถูกกระตุ้นขึ้นมาระยะต่อจากนี้ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาบริษัทเห็นกระแสคนไทยเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น และมีความมั่นใจในการกลับมาใช้ชีวิตมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ชี้ว่าการท่องเที่ยวและการบริการยังมีความเสี่ยงระยะสั้น เพราะภายหลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อาจมีความเสี่ยงโควิด-19 กลับมาระบาดใหม่อีกระลอก และความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ระยะยาวมองว่าธุรกิจไทย รวมถึงภาครัฐจะต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะมีปัจจัยท้าทายเข้ามากระทบ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรุนแรง การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นผลกระทบในแง่การค้าที่หลายประเทศเพิ่มเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมพิจารณาในการค้าระหว่างประเทศ

“ถือเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคในการทำธุรกิจ หากเราไม่ปรับตัว ซึ่งการดำเนินธุรกิจในระยะยาวทุกภาคส่วนจะต้องปรับตัว ทั้งภาครัฐที่ต้องเอื้ออำนวย ภาคเอกชนที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กและบริษัทขนาดใหญ่ที่มีโอกาสแตกต่างกัน มีจุดแข็งแตกต่างกัน สามารถมาร่วมมือกันได้ เพื่อให้เศรษฐกิจของไทยเข้มแข็งและเติบโตยั่งยืน”