"ชาวทุ่งกุลายิ้มได้" ส.ป.ก. ตรวจเยี่ยมแปลงต้นแบบวนเกษตรบ้านกระเบื้อง

"ชาวทุ่งกุลายิ้มได้" ส.ป.ก. ตรวจเยี่ยมแปลงต้นแบบวนเกษตรบ้านกระเบื้อง

"ชาวทุ่งกุลายิ้มได้"  รองเลขาธิการ ส.ป.ก. ตรวจเยี่ยมแปลงต้นแบบวนเกษตรบ้านกระเบื้อง ต.นาหนองไผ่ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 นายสุริยน พัชรครุกานนท์ พร้อมด้วย นายพนมไพร ดีใหม่ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ต้นแบบวนเกษตรของนางรำพึง อินทร์สำราญ หมู่ที่ 3 แปลงที่ 48 เนื้อที่ 11-1-18  ไร่ ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาเป็นศูนย์ต้นแบบของนิคมการเกษตรบ้านกระเบื้อง ต.นาหนองไผ่ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์

นางรำพึง อินทร์สำราญ เปิดเผยว่า เดิมพื้นที่ของตนทำนาปีละครั้ง มีผลผลิต 250 กก./ปี ไม่มีผลกำไร แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการส่งเสริมวนเกษตรตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ร่วมกับ ส.ป.ก. ได้รับการสนับสนุนสระเก็บน้ำขนาด 5,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมถมดินด้านเดียว มีการปรับปรุงถนนผ่านแปลง มุ้งสำหรับปลูกผัก ปลูกไผ่ ผักสวนครัว มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ไม้ยืนต้นต่างๆ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ จนในปัจจุบันมีผลผลิตข้าว 500 กก./ไร่ รายได้ 100,000 บาท/ปี

\"ชาวทุ่งกุลายิ้มได้\" ส.ป.ก. ตรวจเยี่ยมแปลงต้นแบบวนเกษตรบ้านกระเบื้อง

สามารถเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ในระบบอินทรีย์ที่ได้คุณภาพ และเลี้ยงหมูพระราชทาน ส่งผลผลิตให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา มีรายได้หมุนเวียนจากหมู ไก่ ผัก ปลา ฯลฯ สามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จนได้รับการยกระดับเป็นศูนย์ต้นแบบวนเกษตร ปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จำนวน 24 ราย พื้นที่รวม 161 ไร่

รองเลขาธิการ ส.ป.ก. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้สนองนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการเกษตร โดยกำหนดเขตส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เน้นการดำเนินงานในลักษณะนิคมการเกษตรที่มีการทำงานอย่างบูรณาการครบวงจร

\"ชาวทุ่งกุลายิ้มได้\" ส.ป.ก. ตรวจเยี่ยมแปลงต้นแบบวนเกษตรบ้านกระเบื้อง

จึงได้มอบหมายให้ ส.ป.ก.สุรินทร์ ดำเนินการจัดตั้งนิคมการเกษตรในพื้นที่ ต.นาหนองไผ่ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมบูรณาการ เพื่อสร้างความพร้อมของพื้นที่และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโดยจัดหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพิ่มศักยภาพการผลิตที่เหมาะสม 

นอกจากนี้ ส.ป.ก. ยังสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนามาตรฐานสินค้าโดยการเชื่อมโยงการผลิตสู่การตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน สร้างรูปแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ในการเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรและสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ ตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรมในอนาคต