ผบ.ทร. ร่วมงานวันสถาปนา 115 ปี โรงเรียนนายเรือ

ผบ.ทร. ร่วมงานวันสถาปนา 115 ปี โรงเรียนนายเรือ

"โรงเรียนนายเรือ" จัดพิธีถวายราชสักการะ กล่าวถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ครบ 115 ปี

18 พ.ย. 2564  โรงเรียนนายเรือ ได้จัดพิธีถวายราชสักการะ กล่าวถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ซึ่งจะครบ 115 ปี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 โดย พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะ และกล่าวถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ณ โรงเรียนนายเรือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พลเรือโท ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ ให้การต้อนรับ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือรุ่น 50 ถึง 114 ร่วมพิธี

ผบ.ทร. ร่วมงานวันสถาปนา 115 ปี โรงเรียนนายเรือ

 ต่อมาในเวลา 10.15 น. พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะอดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือได้เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศล ณ หอประชุมภูติอนันต์ โดยมี ผู้บัญชาการทหารเรือ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการโรงเรียนเหล่าทัพ และส่วนราชการในจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือร่วมพิธี

ผบ.ทร. ร่วมงานวันสถาปนา 115 ปี โรงเรียนนายเรือ

ทั้งนี้ หลังเสร็จพิธี ทางโรงเรียนนายเรือได้จัดกิจกรรมนำศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือ เยี่ยมชมสถานที่สำคัญภายในโรงเรียนนายเรือ เพื่อให้บรรดาศิษย์เก่าได้ร่วมย้อนรำลึกถึงอดีต เมื่อครั้งได้ศึกษาในสถาบันแห่งนี้ จนมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ที่มีความทันสมัยด้วยการนำเทคโนโลยีมาเป็นสื่อการเรียนการสอน อาทิ ห้องเรียนแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ ห้องจำลองการเดินเรือ ห้องเรียนอัจฉริยะ (smart classroom) หอดาราศาสตร์ที่เป็นหอดูดาวแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์อุปกรณ์การเดินเรือ และมีท้องฟ้าจำลองให้การศึกษาเส้นทางของดวงดาว

ผบ.ทร. ร่วมงานวันสถาปนา 115 ปี โรงเรียนนายเรือ

 สำหรับโรงเรียนนายเรือ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของกองทัพเรือ มีหน้าที่ให้การศึกษาฝึกและอบรมนักเรียนนายเรือด้านวิทยาการ วิชาทหาร จริยศึกษาและพลศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ เหมาะสมที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตร ของกองทัพเรือ สามารถปฏิบัติหน้าที่นายทหารสัญญาบัตรชั้นผู้น้อยในระยะแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นผู้นำ มีคุณธรรมประจำใจ มีความสำนึกในหน้าที่ และความรับผิดชอบ สืบทอดแบบธรรมเนียมประเพณีของทหารเรือ เทิดทูน และยึดมั่นใน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีปรัชญา โรงเรียนนายเรือ ว่าเป็น “แหล่งผลิตนายทหารเรือ อันเป็นรากแก้วของกองทัพเรือ”

    

จากเหตุการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า กิจการของทหารเรือเท่าที่อาศัยชาวต่างประเทศเข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ให้มีความรู้ ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติที่จ้างไว้ต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสสองพระองค์ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังต่างประเทศคือ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมนี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศในตำแหน่งสำคัญทางทหาร
จึงได้มีการจัดส่งนายทหารไปรับการศึกษาจากต่างประเทศอีก มีการพัฒนาทั้งองค์บุคคล และองค์วัตถุควบคู่กันไป ปรับปรุงกำลังรบทางเรือให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งยังทรงจัดการการศึกษาแก่ทหารเรือไทย อันเป็นที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม เมื่อปี พ.ศ.2441 ( ร.ศ.117 ) และได้เปิดการเรียน การสอนนักเรียนนายเรือระยะแรก โดยใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือหลวงมูรธาวสิตสวัสดิ์ เป็นสถานที่ฝึกสอนนักเรียนนายเรือชั่วคราว และใช้เรือหลวงพาลีรั้งทวีป และเรือหลวงสุครีพครองเมือง เป็นสถานที่เรียน ซึ่งได้กำหนดให้มีการศึกษาในวิชาการทหารเรือ เลขคณิต และทหารราบ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ และการฝึกหัดศึกษาอย่างเดียวกับคนประจำเรือ
    

ต่อมาในปี พ.ศ.2442 กรมทหารเรือในสมัยนั้นได้รับบุคคลภายนอกเข้าเรียนมากขึ้น จึงย้ายสถานที่ไปยังวังนันทอุทยาน และได้ทำการเรียนการสอนกันอย่างจริงจัง โดยมีนักเรียนทั้งหมด 19 นาย และมีนาวาโท ไซเดอร์ลิน(C.P.SEIDELIN) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือคนแรก หลังจากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่พระตำหนักสุนันทาลัยปากคลองตลาด 
    

ในปี พ.ศ.2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ และต่อมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จฯ มาเปิดโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานลายพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมโรงเรียนนายเรือความว่า “วันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ.125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร.ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบไปในภายหน้า” โรงเรียนนายเรือจึงถือเอาวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ตราบจนปัจจุบันเป็นระยะเวลา 115 ปี

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์