‘การบินไทย’ เร่งระดมทรัพย์สินค้ำเงินกู้ ที่ดินสำนักงานใหญ่วิภาวดี 30 ไร่

‘การบินไทย’ เร่งระดมทรัพย์สินค้ำเงินกู้ ที่ดินสำนักงานใหญ่วิภาวดี 30 ไร่

“อาคม” เร่งศึกษาแปลงหนี้เป็นทุน “การบินไทย” รวมสินทรัพย์ ยื่นค้ำเงินกู้เอกชน 2.5 หมื่นล้านบาท เผยก้อนใหญ่ 7 หมื่นล้าน สนง.ใหญ่วิภาวดี 30 ไร่ พร้อมที่ดินต่างประเทศ เครื่องบินปลดระวาง 42 ลำ จูงใจแบงก์ปล่อยกู้ มั่นใจเจ้าหนี้ผ่านโหวต เบิกเงินก้อนแรกต้นปีหน้า

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นเรื่องให้กระทรวงการคลัง พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแปลงหนี้เป็นทุนและการซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งมีผลต่อสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงทรวงการคลัง ที่อาจลดเหลือ 8% หากกระทรวงการคลังไม่ดำเนินการใดๆ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อสรุปแนวทางการช่วยเหลือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยยังยืนยันแนวทางที่ต้องการให้การบินไทย ยังเป็นสายการบินแห่งชาติอยู่ ซึ่งทำให้ต้องพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังว่าควรจะถือหุ้นเท่าไร ถึงจะสามารถดำรงสถานะของการบินไทยไว้ได้ โดยที่รัฐไม่ต้องเพิ่มเงินอุดหนุนให้การบินไทย

อย่างไรก็ตามมีความกังวล กรณีที่การบินไทย ที่อาจจะจำเป็นต้องขายทรัพย์สินออกไป รวมถึงการใช้ทรัพย์สินเพื่อค้ำประกันเงินกู้ใหม่ 25,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอาจกู้เงินจากสถาบันการเงินเอกชนที่เป็นเจ้าหนี้การบินไทย โดยทรัพย์สินสำคัญที่มีมูลค่าสูงที่อาจนำมาใช้ค้ำประกันเงินกู้คือ ที่ดินและอาคารสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ซึ่งอาจได้รับความสนใจจากผู้ที่จะปล่อยกู้ให้กับการบินไทย

“คลัง”ศึกษาแปลงหนี้เป็นทุน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ในเรื่องการแปลงหนี้เป็นทุนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

“เรื่องการแปลงหนี้เป็นทุนของการบินไทยนั้น มีหลาย Model จำเป็นต้องไปศึกษา ส่วนแปลงแล้วจะทำให้สัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทย Dilute ลงหรือไม่นั้น ยังต้องพิจารณา”

ทั้งนี้ ฐานะการบินไทยตอนนี้เริ่มดีขึ้นแล้วทำให้ความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องจากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 50,000 ล้านบาท อาจไม่ถึงระดับดังกล่าว ซึ่งการบินไทยก็มีรายได้จากหลายๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะมาจากการขายทรัพย์สิน เช่น เครื่องบิน เป็นต้น

เร่งคลังให้คำตอบภายใน พ.ย.

รายงานข่าวระบุว่า การบินไทยอยู่ในขั้นตอนการเจรจาขอสินเชื่อใหม่จากภาคเอกชน 25,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ ผู้ให้สินเชื่อมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 2.54 บาท และมีประเด็นให้กระทรวงการคลังพิจารณาหลังจากนี้ 3 ประเด็นคือ

1.กรณีมีการแปลงหนี้เป็นทุน อัตราหุ้นละ 2.54 บาท ซึ่งปัจจุบันภาครัฐเป็นเจ้าหนี้การบินไทย 13,000 ล้านบาท

2.กรณีการบินไทยออกหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม โดยผู้ถือหุ้นภาครัฐซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะทำให้คงสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ ซึ่งผู้ถือหุ้นในส่วนภาครัฐ ประกอบด้วยกระทรวงการคลังถือหุ้น 47.86% กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี 8.54% ,กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย 8.54% และธนาคารออมสิน 2.13%

3.กรณีกระทรวงการคลังไม่เลือกทั้งการแปลงหนี้เป็นทุนหรือการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะทำให้สัดส่วนหุ้นกระทรวงการคลังลดลงจาก 47.86% เหลือ 8%

ทั้งนี้ การบินไทยต้องการให้กระทรวงการคลังรีบกำหนดรายละเอียดภายในเดือนพ.ย.2564 เพื่อให้การบินไทยดำเนินการต่อ ซึ่งบางส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องยื่นให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณา

คาดเริ่มกู้เงินต้นปีหน้า

ก่อนหน้านี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเจรจากับสถาบันการเงินภาคเอกชน ขอวงเงินสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสรุปและเบิกเงินกู้งวดแรกได้ในต้นปี 2565 โดยจะเป็นการขอสินเชื่อจากเจ้าหนี้รายเดิมตามแผนฟื้นฟูกำหนดไว้

“หากเจ้าหนี้ปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย โอกาสได้คืนหนี้คงไม่ถึง 10% แต่หากปล่อยสินเชื่อใหม่ก็จะมีโอกาสได้คืนทั้งหนี้เดิมและหนี้ใหม่ และที่สำคัญ เจ้าหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นทุน โดยมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 2.54 บาท ต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ที่ระดับ 10 บาทต่อหุ้น จึงเชื่อว่าหากจะมีการโหวตแผนใหม่ เพื่อขอปรับปรุงรายละเอียดกู้เงินเฉพาะส่วนของภาคเอกชน ก็จะได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

สำหรับสินทรัพย์ของการบินไทย ที่สามารถนำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ ยืนยันว่าการบินไทยปัจจุบันมีสินทรัพย์จำนวนมาก แม้ว่าจะมีการประกาศขายที่ดินในประเทศไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่า อาทิ ที่ดินสำนักงานใหญ่ มีพื้นที่ 30 ไร่ สำนักงานในต่างประเทศ เช่น ลอนดอน และฮ่องกง รวมไปถึงสินทรัพย์ประเภทอากาศยานที่การบินไทยปลดระวางจำนวน 42 ลำ

รอตีมูลค่าที่ดิน“สนง.ใหญ่”

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า สินทรัพย์ที่การบินไทยจะนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะที่ดินสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต พื้นที่ 30 ไร่ ติดถนนวิภาวดีรังสิต และเป็นแถวลึกเข้าไปติดกับตลาดลุงเพิ่ม เบื้องต้น ประเมินมูลค่าสินทรัพย์นี้ราว 70,000 ล้านบาท เป็นที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปัจจุบันการบินไทยกระชับพื้นที่สำนักงาน จัดใช้เพื่อบริหารองค์กรการบินไทยส่วนใหญ่ในอาคาร 5 พร้อมนำอาคารอื่นๆ มาเปิดให้เช่า

“สำนักงานใหญ่ของการบินไทยเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ และเชื่อว่าเจ้าหนี้จะไม่ปฏิเสธการนำหลักทรัพย์ไปค้ำประกันกู้ เพราะการกู้หาเงินทุนใหม่จะเป็นผลดีต่อเจ้าหนี้และทุกฝ่าย แต่มูลค่าสำนักงานใหญ่สถาบันทางการเงินจะประเมินถึง 70,000 ล้านบาทหรือไม่ อาจจะต้องรอให้มีการตีมูลค่าอย่างเป็นทางการออกมาก่อน”

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่การบินไทยต้องนำสินทรัพย์ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวนมากนั้น ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการบินไทยเป็นองค์กรที่ไม่มีเครดิตทางการเงิน ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ มีเพียงแผนฟื้นฟูกิจการที่เห็นเป็นภาพชัดเจนว่าการบินไทยกำลังดำเนินการตามแผน และเกิดผลดีตามมาอย่างชัดเจนคือ การปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่าย 48,000 ล้านบาท ทำให้การกู้เงินจากสถาบันทางการเงินภาคเอกชนนั้น จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวนมาก

“การบินไทย”เครดิตน้อย

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า การบินไทยมีแผนจะกู้เงินจากภาคเอกชน 25,000 ล้านบาท แต่เพราะเครดิตทางการเงินที่หากเทียบกับองค์กรอื่นๆ ต้องเรียกว่าการบินไทยไม่มีเครดิตเพียงพอต่อการปล่อยกู้ ส่งผลให้การกู้เงินจากภาคเอกชน แม้จะต้องการวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเป็นองค์กรที่มีเครดิต อาจใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเพียง 25,000 ล้านบาท แต่สำหรับการบินไทย เนื่องจากไม่มีเครดิต จึงจำเป็นต้องยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกันสูงกว่าวงเงินที่ต้องการกู้

“ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าการบินไทยจะนำสินทรัพย์ส่วนใดไปค้ำประกันการกู้เงินบ้าง แต่เบื้องต้นมีการเตรียมข้อมูลสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีมูลค่า ทั้งที่ดินในและต่างประเทศ อากาศยานที่การบินไทยเป็นเจ้าของและปัจจุบันปลดระวาง รอทำการขาย ซึ่งการตีมูลค่าสินทรัพย์เหล่านี้ จะมีตัวแทนจากสถาบันทางการเงินที่ได้รับการการันตีจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาประเมินมูลค่า”

ทยอยขายทรัพย์สิน

ทั้งนี้ ข้อมูลในรายงานผลการดำเนินงาน และฐานะทางการเงินในงวด 9 เดือนปี 2564 ระบุถึงสินทรัพย์ งบการเงินเฉพาะส่วนของการบินไทย ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 166,130 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค.2563 จำนวน 43,359 ล้านบาท หรือราว 20.7% โดยมีสาเหตุหลักมาจากสินทรัพย์หมุนเวียนประเภทที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ มีจำนวนลดลง จากการลงนามซื้อขาย รวมมูลค่า 628 ล้านบาท แบ่งเป็น 

ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ 415 ล้านบาท ขายทรัพย์สินที่อู่ตะเภา 204 ล้านบาท และขายที่ดินเปล่าที่จังหวัดเชียงใหม่ 9 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีที่ดิน และอาคารสำนักงานหลานหลวงและภูเก็ต ที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายให้กับผู้ซื้อไปแล้ว ในมูลค่า 593 ล้านบาท

นอกจากนี้ สินทรัพย์สิทธิการใช้ ซึ่งประกอบด้วยสินทรัพย์ตามสัญญาเช่าเงินทุน และภาระผูกพันตามสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบิน และสัญญาเช่าดำเนินงานสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ ลดลง 38,043 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการปรับลดมูลค่าสิทธิการใช้ตามสัญญาเช่าใหม่ ที่การบินไทยได้ปรับปรุงตามแผนฟื้นฟู อาทิ การปรับรูปแบบจ่ายค่าเช่าเครื่องบินโดยคิดตามการใช้งานจริง และการคิดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ตามสัญญาใหม่

สำหรับสินทรัพย์ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 การบินไทยถือครองอยู่รวมมูลค่า 36,775 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22.5% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค.2563 เป็นจำนวน 5,352 ล้านบาท หรือราว 12.7% จากสาเหตุหลักในการโอนที่ดิน และอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ รวมถึงที่ดินเปล่าเชียงใหม่ ที่ดินและอาคารสำนักงานหลานหลวงและภูเก็ต รวมไปถึงเครื่องยนต์ CFM56 จำนวน 5 เครื่อง มูลค่า 19 ล้านบาท ที่ได้มีการตกลงซื้อขายแล้ว

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์