"ปิยบุตร" โต้ร่างรธน.ล้มล้างระบบถ่วงดุล-ล้วงลูกศาล ยันแบ่งสรรปันส่วน

"ปิยบุตร" โต้ร่างรธน.ล้มล้างระบบถ่วงดุล-ล้วงลูกศาล ยันแบ่งสรรปันส่วน

"ปิยบุตร" ชี้แจงที่ประชุมรัฐสภาโต้ปฏิวัติรัฐธรรมนูญขล้มล้างระบบถ่วงดุล-ล้วงลูกศาล ยืนยันแบ่งสรรปันส่วนยุติธรรม

ที่รัฐสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าในฐานะ ผู้ร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่การปฏิวัติตามที่ถูกกล่าวหาเพราะการปฏิวัติคือต้องล้มรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งหมดแล้วเขียนขึ้นมาใหม่ในลักษณะที่ไม่มีเค้าลางแบบเดิมเลย

แต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้คือการปฏิรูปเราไม่ได้ไปทำร้ายรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับแต่มีการแก้ไขรายมาตราที่เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 60 แต่ยังคงเหลือเค้าลางแบบเดิม
 

ส่วนกรณีที่เราเขียนไว้ว่าห้ามศาลใดๆก็ตามมีการรับรองรัฐประหารเหตุผลก็เพื่อแก้ปัญหาในอดีตที่ไม่มีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวกำหนดไว้ ทำให้ตุลาการศาลไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงได้มีการเขียนไว้ในร่างแก้ไขซึ่งต่อไปตุลาการจะสามารถนำมาตรานี้มาใช้ในการไม่รับรองรัฐประหารได้

ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการละเมิดความเป็นอิสระของตุลาการศาลตรงกันข้ามจะทำให้ศาลสูงเด่นยิ่งขึ้นในการต่อต้านรัฐประหาร

ส่วนกรณีที่ร่างแก้ไขมีการระบุถึงข้อห้ามที่ไม่ให้ศาลเข้าไปขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นเรื่องของ 2 อำนาจที่กำลังเผชิญหน้ากัน

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญหรือที่เรียกว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจที่ใหญ่กว่าอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ 

ดังนั้นจึงต้องมีการเขียนให้มีการถ่วงดุลกันระหว่างอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญกับอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างรัฐสภาและองค์กรอิสระ

ส่วนประเด็นการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นการคิดมาจากหลักการตามรัฐธรรมนูญ 2540ที่ระยุไว้ตั้งแต่มาตรา 303 ซึ่งใช้เสียงส.ว.3ใน5ในการถอดถอน

ฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งมีการยกเลิกบทบัญญัติในส่วนนี้ไปโดยให้เหตุผลว่า ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในร่างแก้ไขจึงได้มีการเสนอให้ยกเลิกส.ว.แล้วให้เป็นอำนาจสส.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ถอดถอนแทน

ในเรื่องของการถ่วงดุลร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการวางระบบในการถ่วงดุลซึ่งกันและกันว่าจะไม่มีเสียงข้างมากฝ่ายไหนยึดศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้อีกต่อไปแต่จะต้องมีการแบ่งสรรปันส่วนที่ยุติธรรมที่สุด

ขณะที่องค์กรอิสระอื่นๆยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของส.ส.เช่นเดิม