ชป.ย้ำเหนือ-อีสาน เก็บกักน้ำสำรองใช้หน้าแล้ง ส่วนภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนัก

ชป.ย้ำเหนือ-อีสาน เก็บกักน้ำสำรองใช้หน้าแล้ง ส่วนภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนัก

กรมชลประทาน ย้ำภาคเหนือ-อีสาน เก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้หน้าแล้ง ส่วนภาคใต้เข้าสู่ฤดูฝน สั่งเฝ้าระวังฝนตกหนักอย่างใกล้ชิด

วันนี้(15 พ.ย.64) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสำนัก/ส่วน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำต่อไป ณ ห้องประชุมswoc ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (15 พ.ย. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 59,301 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 35,370 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 17,143 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา

  • เขื่อนภูมิพล
  • เขื่อนสิริกิติ์
  • เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
  • เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

 มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,792 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 8,096 ล้าน ลบ.ม.

ชป.ย้ำเหนือ-อีสาน เก็บกักน้ำสำรองใช้หน้าแล้ง ส่วนภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนัก

อนึ่ง เนื่องจากได้สิ้นสุดฤดูฝนของทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางแล้ว จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ที่ระดับน้ำกลับเข้าตลิ่งแล้ว ให้พิจารณาเก็บกักน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล พร้อมปรับแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือน้ำหลากที่กรมกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ โดยใช้ระบบชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด พิจารณาปรับการระบายน้ำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด พร้อมกับเน้นย้ำให้แจ้งเตือนก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด