อพวช. จัดแสดงนิทรรศการศาสตร์ศิลป์ในเสียง

อพวช. จัดแสดงนิทรรศการศาสตร์ศิลป์ในเสียง

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงได้จัดแสดงนิทรรศการศาสตร์ศิลป์ในเสียง 

โลกขับเคลื่อนด้วยเสียง ไม่ว่าจะมาจากการพูด เพลง หรือความเคลื่อนไหวในธรรมชาติ ​ในปีนี้ทุกคนจะได้เห็นถึงความสำคัญของ ‘เสียง’ ที่เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนางานวิทยาศาสตร์มากขึ้น และยูเนสโก (UNESCO) เองได้กำหนดให้ปี ค.ศ. 2020-2021 เป็น ‘ปีแห่งเสียงสากล’ (International Years of Sound) เพื่อเน้นความสำคัญของเสียงในทุกมิติ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ สุนทรียภาพ รวมถึงเสียงที่เป็นมลภาวะด้วย 

​ทาง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงได้จัดแสดงนิทรรศการศาสตร์ศิลป์ในเสียง ด้วยการสร้างบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยเสียงต่างๆ ขึ้น พร้อมผสมผสานวิทยาศาสตร์และศิลปะอย่างมีสุนทรียะ เพื่อพาเราเดินทางไปทำความรู้จักกับอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างชัดเจนมากขึ้น 

ภายในนิทรรศการ เราจะได้พบกับอุโมงค์โลกของเสียง ที่จำลองเสียงที่เข้ามาในหูของเราตั้งแต่ตื่นนอนอย่างจงใจ ซึ่งทำให้เราได้สังเกตว่าภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีในช่วงเช้า เราได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเสียงไปหลายสิบเสียงแล้ว และแน่นอนว่า..หากเราอยากจะนอนนานอีกสักหน่อย หรืออยู่กับความสงบในตอนเช้ามากขึ้น เราจะต้องจัดการกับเสียงที่ไม่จำเป็นบางอย่างออกไปอย่างไร

และถึงแม้เสียงจะไม่มีหน้าตา ไม่มีรูปร่าง แต่อุปกรณ์ที่เรียกว่า หน้าสื่อเสียง ภายในนิทรรศการจะช่วยจับลักษณะใบหน้าท่าทางของเรา แล้วตีความออกมาเป็นคำพูดได้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับการออกแบบให้คนหูหนวกสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้อย่างราบรื่น

อพวช. จัดแสดงนิทรรศการศาสตร์ศิลป์ในเสียง

เสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุ เราสามารถเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ของเสียง ที่มีลักษณะเป็นคลื่นได้ ผ่านกีต้าร์ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เงาจากคลื่นเสียงที่เราดีดกีต้าร์จะถูกสะท้อนอยู่บนเครื่องหมุนเบื้องหลัง

สายกีตาร์ที่เส้นเล็กกว่าจะมีแรงสั่นสะเทือนเยอะ ภาพเงาที่ปรากฏก็จะเป็นคลื่นที่มีความถี่แคบและสั่นสะเทือนเยอะ ทำให้เกิดเสียงที่แหลมเล็ก ส่วนสายกีตาร์เส้นที่หนากว่า ภาพเงาจะเห็นเป็นคลื่นที่กว้างกว่าทำให้เกิดเสียงที่ทุ้มกว่านั่นเอง

เสียง ความรู้สึก และสุนทรียภาพ – เสียงยังช่วยในการบำบัดจิตใจและอารมณ์ของคนเราได้อีกด้วย เมื่อคนเราได้ฟังเสียงที่เราชอบ สมองของเราจะหลั่งสารสื่อประสาทแห่งความสุขอย่าง โดปามีน ออกมา ซึ่งทำให้เรานอนหลับได้ง่ายขึ้น เราสามารถทดลองฟังเพลงที่เกิดจากบันไดเสียงต่างๆ ทั้งเมเจอร์และไมเนอร์ เพื่อให้รับรู้ถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตัวเองได้ และเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนอารมณ์ของตัวเองหากไม่อยากตกอยู่ในความรู้สึกที่เราไม่ชอบนานๆ ผ่านห้อง Interactive เล็กๆ ที่ชื่อว่า เสียงสื่ออารมณ์

ไฮไลท์อีกจุดหนึ่งของนิทรรศการศาสตร์ศิลป์ในเสียง คือซอฟท์แวร์อัจฉริยะจากค่าย AIS ซึ่งพัฒนาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำ AI มาช่วยจำแนกเสียงจากอารมณ์ของเราเป็นภาษาไทย โดยใช้ชุดข้อมูลจากเสียงของดาราชาย-หญิงในประเทศของเรากว่า 200 คน รวบรวมคำพูดมากถึง 27,000 ประโยคต่อคน นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อจำแนกอารมณ์จากเสียงที่พูดคุยกันได้ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการเจรจางานในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ยังมีเสียงจากการประยุกต์ใช้เสียงในชีวิตประจำวัน หรือ คีตประยุกต์ เช่น การอัลตร้าซาวด์ทารก รวมถึงเสียงจาก เพื่อนร่วมโลก ของเราที่ถูกนำมาจัดแสดงด้วย เมื่อเราสนุกสนานและเข้าใจถึงเสียงที่อยู่รอบตัวเราจากการเดินทางไปกับเสียงในนิทรรศการนี้แล้ว เราจะได้พบว่า ‘เสียง’ ที่อยู่รอบตัวเรานั้นน่าสนใจจริงๆ และยังสามารถต่อยอดเป็นงานวิจัยในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากมายอีกด้วย
เปิดโลกแห่งการเรียนรู้วิทย์ยุคใหม่ใน 2 ช่องทาง
• Online ไร้ข้อจำกัดเวลาและสถานที่ด้วย Virtual Exhibition ในโลกออนไลน์ ผ่าน www.thailandnstfair.com
• On ground สัมผัสเทคโนโลยีและนวัตกรรมจริงในแบบออนกราวด์ จนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 64 ณ อาคาร 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี