เงื่อนไข "สิทธิบัตรทอง" เหมาจ่ายดูแลผู้ป่วยโควิด-19 วันละ 1,000 สูงสุด 14 วัน

เงื่อนไข "สิทธิบัตรทอง" เหมาจ่ายดูแลผู้ป่วยโควิด-19 วันละ 1,000 สูงสุด 14 วัน

ประเด็น สปสช. เหมาจ่ายค่าบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง ในระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนวันละ 1,000 บาท มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เป็นข้อมูลจริง

ตามที่มีการนำเสนอข่าวประเด็นเรื่อง สปสช. เหมาจ่ายค่าบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง ในระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนวันละ 1,000 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

 

 

เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงรายละเอียดการจ่ายค่าชดเชยให้กับบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิ สปสช. หรือสิทธิบัตรทอง ในระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation: HI) และในชุมชน (Community Isolation: CI) ซึ่ง สปสช.จะเหมาจ่ายให้กับหน่วยบริการที่ให้การดูแลในอัตราวันละ 1,000 บาท รวมระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน

 

สำหรับเงินจำนวน 1,000 บาทดังกล่าว จะเป็นการเหมาจ่ายที่รวมค่าบริการดูแล ติดตาม สอบถามอาการผู้ป่วย และค่าอาหาร 3 มื้อของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามหากกรณีที่หน่วยบริการดังกล่าวไม่สามารถจัดหาอาหารให้ได้ ทาง สปสช.ก็จะจ่ายชดเชยให้เฉพาะในส่วนของค่าบริการดูแลผู้ป่วย เป็นจำนวน 600 บาทแทน

 

โดยตามหลักแล้ว สปสช. อยากให้หน่วยบริการเป็นผู้จัดอาหารให้กับคนไข้ แต่หากทำไม่ได้ใน กทม. เราก็จะให้ผู้ป่วยสั่งอาหารผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่มีการประสานไว้แทน แต่หากเป็นในต่างจังหวัด สถานพยาบาลอาจใช้วิธีประสานกับร้านอาหารภายนอก หรือประสานกับชุมชนเพื่อให้ดูแลจัดอาหารส่งให้กับคนไข้ โดยใช้เงิน 400 บาทที่เหลือไปจ่ายให้แทน ซึ่งขอให้เป็นการจัดอาหารรวม 3 มื้อที่มีคุณภาพเหมาะสม ทานแล้วอิ่ม มีคุณค่าทางสารอาหารครบ

 

 

ในส่วนของการเบิกจ่าย ทาง สปสช.จะจ่ายให้กับหน่วยบริการตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนด โดยมีรอบการจ่ายในทุกสัปดาห์ หลังจากที่หน่วยบริการขอ Authen หรือยืนยันการให้บริการแก่ผู้ป่วย แต่จะไม่มีการจ่ายตรงไปที่ร้านอาหารที่ให้บริการแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนนี้จะให้หน่วยบริการเป็นผู้บริหารจัดการเบิกจ่ายให้กับร้านอาหารหรือชุมชน ตามระเบียบหลักเกณฑ์ของหน่วยบริการแต่ละแห่ง ซึ่ง สปสช. จะมีการออดิทเพื่อตรวจสอบการเบิกจ่าย โดยโทรติดตามสอบถามผู้ป่วยว่าได้รับบริการจริงหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยบริการเก็บเอกสารหลักฐานการให้บริการ ซึ่งอย่างน้อยควรมีสัญญาจ้างกับร้านอาหารเอาไว้ด้วย เช่นเดียวกับในส่วนของร้านอาหาร ที่ควรมีการเก็บข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยเพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบด้วยเช่นกัน

 

ส่วนการออดิทจะมีผลกับการจ่ายชดเชย อย่างขณะนี้เรามีการจ่ายแบบเหมาจ่ายให้หน่วยบริการ หลังจากที่หน่วยบริการขอ Authen ยืนยันการให้บริการแก่ผู้ป่วย เพื่อใช้ในการดูแลคนไข้ HI-CI รายละ 3,000 บาท ซึ่งหากกรณีที่ติดต่อคนไข้ไม่ได้ก็อาจไม่ได้จ่ายเหมาจ่ายให้ แต่ให้หน่วยบริการเบิกจ่ายผ่านระบบ E-Claim โดยส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานเข้ามาภายหลัง แล้วเราก็จะจ่ายชดเชยให้อีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการบันทึกข้อมูลเข้ามา

 

และในขณะเดียวกันหากเป็นกรณีของ HI-CI บางแห่งที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ให้การดูแล และใช้งบประมาณของ อปท. ในการจัดหาอาหารให้กับผู้ป่วย ซึ่งถือว่าเป็นการใช้งบของรัฐแล้ว ทาง สปสช. ก็จะไม่จ่ายซ้ำซ้อนอีก โดยในกรณีนี้จะจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการที่ให้การดูแลผู้ป่วย เฉพาะในส่วนของการเหมาจ่ายค่าบริการดูแลวันละ 600 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแทน

 

ทั้งนี้หากสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการใดมีข้อสงสัยต้องการสอบถามเพิ่มเติม ทาง สปสช. ได้มี Provider Center ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการรับข้อมูลเพื่อสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าบริการ โดยสามารถติดต่อผ่านเบอร์โทรศัพท์ 02-554-0505 ในช่วงระยะเวลา 8.30-16.30 น. (วันและเวลาราชการ) หรือติดตามรับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทรสายด่วน 1330

 

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข

 

เงื่อนไข \"สิทธิบัตรทอง\" เหมาจ่ายดูแลผู้ป่วยโควิด-19 วันละ 1,000 สูงสุด 14 วัน