“พาณิชย์” เดินหน้ามาตรการลดค่าครองชีพ ลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ

“พาณิชย์” เดินหน้ามาตรการลดค่าครองชีพ  ลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ

“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อไม่น่ากังวล แม้เดือน ต.ค. 64 เพิ่มขึ้น 2.38% เหตุสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน กลุ่มผักสด และกลุ่มอาหาร แต่สินค้ากลุ่มอื่นยังราคาปกติ เตรียมมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ( สนค.) เปิดเผยถึงกรณีที่หลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนมีความกังวลต่อดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป    เดือน ต.ค. 2564 ที่ปรับตัวสูงขึ้น 2.38% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ว่า  เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นนี้ มีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่สูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก ซึ่งรัฐบาลได้เข้ามาดูแลราคา โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และคาดว่าในระยะต่อไป ราคาน้ำมันจะส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากฐานราคาเริ่มใกล้เคียงกับปีก่อน และยังมีสินค้ากลุ่มผักสด โดยเฉพาะผักใบ เช่น ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี  ที่พื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อย ราคาจึงขยับขึ้นแต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ เนื่องจากในช่วงต่อไปจะมีผลผลิตผักตามฤดูกาล และที่ปลูกเพิ่มหลังน้ำท่วมคลี่คลายเพิ่มขึ้น

ส่วนสินค้าอาหารอื่น ๆ ที่ราคายังสูง เช่น ไข่ไก่ จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำมันพืชที่ทำจากปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นจากผลปาล์มดิบออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้ของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้มีการส่งออกมากขึ้นแต่ก็ไม่กระทบต่อการผลิตในประเทศ สินค้ายังมีเพียงพอ และอาหารบริโภคในบ้านนอกบ้าน เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารเช้า อาหารตามสั่ง ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ น้ำมันพืช ผักสด และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

“พาณิชย์” เดินหน้ามาตรการลดค่าครองชีพ  ลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญอีกหลายรายการที่ราคาปรับลดลง อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้ ราคายังคงต่ำกว่าปีก่อน น้ำดื่มบริสุทธิ์ ราคาปรับลดลงเพื่อกระตุ้นยอดขาย เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ราคายังคงต่ำกว่าปีก่อนจากการลดราคาเพื่อดึงดูดผู้บริโภค ค่าสาธารณูปโภค  เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา) และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (ค่าลงทะเบียน – ค่าธรรมเนียมการศึกษาราคาปรับลดลงเนื่องจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งค่าเช่าบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ให้เช่าปรับลดราคาเพื่อดึงดูดผู้เช่า

นอกจากนี้ จาก มาตรการลดค่าครองชีพ ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการจัดส่งรถโมบายนำผักสดราคาถูก ออกจำหน่ายให้กับประชาชนและร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และในจังหวัดต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะเป็นส่วนช่วยลดความร้อนแรงของราคาผักสด และยังมีการลดราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการพาณิชย์ลดราคา เพื่อประชาชน จะเป็นส่วนช่วยลดภาระค่าครองชีพ ทำให้สินค้าราคาลดลง และจะกดดันให้เงินเฟ้อลดลงได้ในระยะต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มลดลงจากมาตรการของภาครัฐ ที่ดูแลด้านค่าครองชีพ ทั้งการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การดูแลราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และค่าสาธารณูปโภค รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ช่วยลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง

ทั้งนี้ เงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) ปี 2564 สูงขึ้น 0.99%  ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ระหว่าง 1.0 – 3.0 % ค่ากลางที่2.0%  แสดงให้เห็นว่า ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับใกล้เคียงปกติ และยังมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ สนค. ประเมินว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.8–1.2% ค่ากลางอยู่ที่ 1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง และไม่น่ากังวลนัก