ดีเดย์ 15 พ.ย.นี้ ตร.กวดขัน จยย.ฝ่ากฎจราจร ก่ออุบัติเหตุ 80% เสียชีวิต 700 ราย

ดีเดย์ 15 พ.ย.นี้ ตร.กวดขัน จยย.ฝ่ากฎจราจร ก่ออุบัติเหตุ 80% เสียชีวิต 700 ราย

ตำรวจ ถกร่วม "กทม.-กรมการขนส่งทางบก" และบริษัทบริการขนส่งอาหาร บูรณาการความร่วมมือบังคับใช้กมฎหมายเข้มข้น เร่งแก้ปัญหาฝ่าฝืนกฎจราจร โดยเฉพาะรถจยย. ดีเดย์เริ่ม 15 พ.ย.นี้

10 พ.ย.2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พร้อมพล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร., นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, น.ส.ณัฎกร โอภาสทิพากร นักวิชาการขนส่งชำนาญการ กรมการขนส่งทางบก ร่วมแถลงผลการประชุมการบูรณาการความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน อันเกิดจากการกระทำผิดของผู้ใช้รถใช้ถนน

นอกจากนี้ การประชุมยังได้เชิญบริษัทที่ให้บริการขนส่งอาหารสิ่งของ และเครือข่ายด้านความปลอดภัยบนท้องถนน เข้าร่วมประชุมหารือใช้เวลาการประชุม 1 ชั่วโมง

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อกำหนดมติการบูรณาการความร่วมมือกัน โดยใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดย ตร.จะบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่ม รถ จยย. ที่กระทำผิด ในพื้นที่เขตเมือง เขตชุมชน หรือเขตสถานศึกษา อย่างเข้มงวด ทั้งนี้ได้กำหนดกติการบูรณาการความร่วมมือกันโดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้ 1. มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดย ตร.จะบัง คับใช้กฎหมายกับกลุ่มรถ จยย.ที่กระทำผิด ในพื้นที่เขตเมือง เขตชุมชน หรือเขตสถานศึกษา อย่างเข้มงวด ในข้อหา ขับรถย้อนศร (ปรับไม่เกิน 500 บาท) ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ปรับไม่เกิน 1,000 บาท) ขับรถรถจักรยานยนต์บนทางเท้า (ปรับตาม พ.ร.บ.จราจรฯ 400 -1,000 บาท และปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ไม่เกิน 5,000 บาท) รวมถึงการขับรถปาดซ้ายปาดขวา ซึ่งเป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว (ปรับ 400-1,000 บาท)

  นอกจากการออกใบสั่งแล้ว หากพบการทำผิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน หรือประชาชนทั่วไป ต้องดำเนินคดีในข้อหา “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท ต้องสอบสวนและยื่นฟ้อง และยึดรถใช้ในการกระทำผิด ส่วนการจับกุมใน 5 วิธีนั้นคือ  1.ความผิดซึ่งหน้า ขณะอำนวยการความสะดวกการจราจร 2. สายตรวจจราจรตรวจพื้นที่จุดเสี่ยงที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายหรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 3. จุดตรวจกวดขันวินัยจราจร 4. ใช้กล้องตรวจจับความผิด 5. ข้อมูลจากประชาชน ที่บันทึกเหตุการณ์

2. ความร่วมมือหน่วยงานภาคีเครือข่ายกำกับติดตามผู้กระทำผิดกฎหมาย เช่น กทม.ได้ร่วมบูรณาการบังคับใช้กฎหมายขับรถบนทางเท้า ความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535, กรมการขนส่งทางบก บูรณาการกำกับดูแล จัดตั้งวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ และการขอจดทะเบียนขึ้นทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ หากกระทำความผิดตามหลักเกณฑ์ของกรมการขนส่งทางบก จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาต หรือพักใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว ขณะที่ส่วนบริษัทที่ใหด้านการขนส่งสินค้าและอาหารเดลิเวอรี ร่วมบูรณาการใช้มาตรการองค์กร กำกับดูแลผู้ขับขี่ในสังกัดให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดย ตร.ประสานข้อมูลประวัติการกระทำผิด ข้อมูลการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้บริษัทคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพและปฏิบัติตามกฎจราจร และบริษัทฯ จะเพิ่มหมายเลขพนักงานหลังเสื้อบริษัท

3.นอกจากนี้ยังมีช่องทางให้ประชาชน ส่งคลิปกล้องหน้ารถ ที่บันทึกภาพเหตุการณ์การกระทำผิดกฎหมายจราจร และมีพฤติการณ์ขับขี่ส่งผลอันตรายต่อบุคคลอื่น เพื่อให้ติดตามตัวมาดำเนินคดี โดยร่วมมือกับทางมูลนิธิเมาไม่ขับ สวพ.91 จส.100 และภาคีเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมเป็น “อาสาตาจราจร” หากพบทำผิดและมีคลิปบันทึกเหตุการณ์สามารถส่งคลิปมาได้ในช่องทางที่กำหนด ได้แก่ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร., จส.100, สวพ.91, มูลนิธิเมาไม่ขับ โดยคณะทำงาน ศจร.ตร. จะตรวจสอบข้อมูลจากคลิปหากพบว่าผิดกม. จะส่งข้อมูลไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ นอกจากนี้มูลนิธิเมาไม่ขับ จะมีการมอบรางวัลให้กับเจ้าของคลิป ทุกเดือนๆ ละ 10 รางวัล รวมเป็นเงิน 50,000 บาท

ทั้งนี้ จะเริ่มต้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะเริ่มใช้อย่างเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2564 เพื่อมุ่งหมายในการสร้างวินัยการขับขี่ ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้ประชาชนสามารถใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัย โดยมีตัวอย่างการดำเนินคดีตามมาตรการดังกล่าวจากกล้องหน้ารถที่บันทึกการกระทำผิดของรถจักรยานยนต์ที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงในพื้นที่ สน.พหลโยธิน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้เชิญตัวผู้ขับขี่ที่กระทำผิดมาแจ้งข้อหา “ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร” และ “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยฯ” ซึ่งจะนำตัวส่งฟ้องศาลแขวงพระนครเหนือต่อไป

ด้านนายสกลธี กล่าวว่า ทางกรุงเทพมหานครได้กวดขันการฝ่าฝืนขับขี่รถจยย.จอดบนทางเท้าอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือนก.ค.61-ปัจจุบัน ได้จำนวน 40,000 ราย เป็นเงินเข้าราชการ 44 ล้านบาท ส่วนใหญ่จับเป็นการจับซึ่งหน้าโดยเจ้าหน้าที่ ทั้งการตั้งจุดตรวจ และชุดเคลื่อนที่เร็วของแต่ละสำนักงานเขต 

ส่วนการดำเนินการปรับตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาด ปรับในข้อหาดังกล่าวได้ไม่เกิน 5,000 บาท แต่เป็นนโยบายของกรุงเทพมหานครที่จะปรับจำนวน 2,000 บาทในทุกกรณี อีกส่วนหนึ่งที่ให้ประชาชนได้แจ้งเบาะแสเข้ามาด้วยตั้งแต่กวดขันมามีผู้แจ้งแล้วทั้งสิ้น 160,000 ราย ปรับไปแล้ว 77,000 เรื่อง ในกรณีไม่สามารถติดตามตัวได้ก็จะส่งดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน 38,000 เรื่อง ส่วนเงินค่าปรับทั้งสิ้นที่มีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามา ทางกรุงเทพมหานครจ่ายไปแล้ว 2,600,000 บาท

ด้านนพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80 มีสถิติผู้เสียชีวิต เดือนพ.ย. จำนวน 358 คน ตั้งแต่ม.ค.-ปัจจุบัน 10,926 คน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปีเสียชีวิตแล้ว 686