ปชป.ดาหน้าถล่ม “สันติ” ยัน “ประกันรายได้” กระทบงบประมาณน้อยที่สุด

ปชป.ดาหน้าถล่ม “สันติ” ยัน “ประกันรายได้” กระทบงบประมาณน้อยที่สุด

“ชัยชนะ” รองโฆษก “ปชป.” ออกโรงแจงปม “สันติ” พาดพิง “ประกันรายได้” ทำเกษตรกรอ่อนแอ ยันไม่ได้ทำฤดูกาลผลิต ช่วงไหนราคาสูงงดจ่ายส่วนต่าง สร้างผลกระทบต่อภาระงบประมาณน้อยสุด ไม่ควรห่วงใครจะได้หน้า แต่ควรดู “กระดูกสันหลังของชาติ” แข็งแรงพร้อมฝ่าฟันทุกปัญหาหรือไม่

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าการจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรนั้น จะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ และเป็นการช่วยเหลือแบบไม่รู้ว่าจะจบลงตรงไหนว่า  การที่นายสันติ ออกมาพูดในลักษณะดังกล่าว ก็พอเข้าใจได้ว่า มีความห่วงใยในสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ แต่การที่มาบอกว่า โครงการประกันรายได้เกษตร ทำให้เกษตรกรอ่อนแอ และไม่ทราบว่าจะจบลงเมื่อไหร่นั้น ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะหลักการการประกันรายได้ เป็นหลักการที่ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้ ในสภาวะที่มีความไม่แน่นอนทั้งดินฟ้าอากาศ ความต้องการผลผลิตทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง เหตุสุดวิสัยอย่างเช่นการระบาดของไวรัสโควิด - 19 

นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า ดังนั้น โครงการประกันรายได้ ถือเป็นแนวทางของรัฐสวัสดิการอย่างหนึ่ง ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา  ทั้งนี้ การประกันรายได้เกษตรกรไม่ได้มีการทำทุกฤดูหรือทุกภาคการผลิตแต่อย่างใด หากช่วงใดมีราคาขายสูงกว่าราคาที่ทางโครงการฯ กำหนดนั้น ก็จะไม่มีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรฯ แต่อย่างใด เพราะฉะนั้น ตนจึงอธิบายชี้แจงนายสันติให้เข้าใจ เนื่องจากทุกคนในรัฐบาลมีความห่วงใยเกษตรกรที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและมีส่วนสำคัญในทางเศรษฐกิจและครัวสำหรับพลเมืองโลก แต่บางครั้งการมองด้วยมุมมองเดียวอาจจะไม่เห็นประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่นายสันติอาจจะคาดไม่ถึงด้วยก็ได้ 

“เชื่อว่าเกษตรกรและตัวของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเอง น่าจะผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลทำตัวเหมือนกับพ่อค้ารายใหญ่ผูกขาดการซื้อขายข้าว หรือที่เรียกว่า การรับจำนำ การแทรกแซงหรือชี้นำราคาโดยรัฐ ซึ่งเข้าใจโดยทั่วไปว่าคือ การประกันราคา เป็นต้น โดยที่กล่าวมาแล้วนั้น ปรากฏว่า ไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง เพราะนอกจากมีขั้นตอนยุ่งยากมากมายแล้ว ยังปรากฏอยู่เนืองๆ ว่า มีการฮั้วกันระหว่างเจ้าของโรงสี  ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งนักการเมืองบางคน กระทำการทุจริต ซึ่งสร้างความเสียหายไปทั่วประเทศ และฉาวโฉ่ไปถึงระดับโลก รวมทั้ง ยังต้องกันเงินงบประมาณแผ่นดินบางส่วนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการดำเนินโครงการที่ผิดพลาดในอดีต” นายชัยชนะ กล่าว

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นโครงการที่สร้างผลกระทบต่อภาระทางการคลังน้อยที่สุด นายสันติ จึงไม่ควรห่วงว่าพรรคใดหรือใครจะได้หน้าได้ตามากกว่า เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลจะต้องบริหารงานภายใต้หลักความรับผิดชอบร่วมกันอยู่แล้ว แต่ควรห่วงว่า เกษตรกรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีความแข็งแรงพอที่จะพร้อมฝ่าฟันอุปสรรคและความท้าทายในสถานการณ์โลกหลังโควิดฯหรือไม่ เพราะว่าหากปล่อยให้เกษตรกรไร้หลักประกันทางรายได้ ก็เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังที่ผิดรูป ทำให้ร่างกายหรือประเทศไม่สามารถยืนหยัดได้ในเวทีโลก