น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา คาดน้ำกลับสู่ตลิ่ง 23-25 พ.ย.นี้
กรมชลฯเผยน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา คาดน้ำกลับสู่ตลิ่ง 23-25 พ.ย.นี้ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำเร่งระบายพร้อมเก็บน้ำ 600 ล้าน เพื่อเกษตรฤดูแล้ง
วันที่ 8 พ.ย.64 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน แถลงภายหลังการประชุมอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า ปริมาณฝนที่เริ่มลดลงในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในขณะนี้ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเหนือลดลง และน้ำท่าที่จะลงมาเติมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ลดลงเช่นกัน โดยปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท ณ วันที่ 8 พ.ย. 2564 อัตราการไหลอยู่ที่ 2,036 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที จากปริมาณน้ำที่ลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลของกรมชลฯ คาดว่าประมาณวันที่ 23-25 พ.ย. 64 นี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะกลับสู่ตลิ่ง
ขณะที่ในลุ่มแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ซึ่งขณะนี้กรมชลฯได้เร่งระบายลงแม่น้ำโขงอย่างเนื่องโดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 4.75 เมตร ระบายน้ำลงแม่น้ำโขง 260 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ดังนั้นคาดว่าทั้งลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีระดับน้ำจะกลับสู่ตลิ่งในช่วงเวลาเดียวกันกับภาคกลาง
“ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ พายุโซนร้อนคมปาซุ และร่องความกดอากาศใน5 ระลอกที่ผ่านมาส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลงลงสู่ทะเลรวมทั้งสิ้น 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำกักเก็บใน 4 เขื่อนหลักของประเทศคือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 8,014 ล้านลบ.ม. มากกว่าปี 63 ประมาณ 2 พันล้านลบ.ม. ซึ่งกรมจะสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรฤดูแล้ง(1พ.ย.64-30 เม.ย. 65)โดยสนับสนุนนาปรังในพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ 6 ล้านไร่ และลุ่มเจ้าพระยา 2.8 ล้านไร่ “ดร.ทวีศักดิ์กล่าว
สำหรับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ11 ทุ่ง เป็นทุ่งเจ้าพระยา10 ทุ่ง และทุ่งบางระกำ 1 ทุ่งนั้น ณ 8 พ.ย.64คาดว่ามีน้ำประมาณ 2 พันล้านลบ.ม. ที่ทุ่งบางระกำประมาณ 200 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันเป็นการระบายโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงปกติเสริมกับเครื่องจักร เครื่องมือของกรมชลฯที่เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งกรมจะเร่งระบายให้มากที่สุดเพื่อให้ประชาชนใช้เส้นทางสัญจรและประชาชนกลับเข้าบ้านได้ อย่างไรก็ตามในการระบายน้ำกรมจะทำงามร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและท้องถิ่นในการวางแผนการระบายเนื่องจากประชาชนต้องการให้เก็บน้ำไว้ประมาณ 30% หรือประมาณ 600 ล้านลบ.ม.เพื่อทำการเกษตรฤดูแล้ง