สรุปดราม่า "ด่าคนอีสาน" สังคมควรปล่อยผ่านหรือร่วมแก้ทัศนคติเหมารวม

สรุปดราม่า "ด่าคนอีสาน" สังคมควรปล่อยผ่านหรือร่วมแก้ทัศนคติเหมารวม

จากกรณี "ด่าคนอีสาน" ที่เป็นประเด็นร้อนแรงในโลกโซเชียล เช็คสรุปเหตุการณ์ดราม่าตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมคำถามสำคัญว่าเรื่องนี้สังคมควรปล่อยผ่านไปเพื่อไม่ให้เกิดการปั่นกระแส หรือควรชี้ให้เห็นปัญหาและแก้ไขทัศนคติเหมารวม (Stereotype)

ไม่กี่วันก่อน เกิดกระแสดราม่าร้อนแรงในประเด็น "ด่าคนอีสาน" บนโลกโซเชียลมีเดีย โดยต้นทางมาจากการตั้งห้องพูดคุยใน "ClubHouse" ในประเด็นการ เหยียดคนอีสาน มีการพูดจา "บูลลี่" คนอีสานด้วยถ้อยคำรุนแรง จนประเด็นดังกล่าวถูกแพร่กระจายไปยังโซเชียลอื่นๆ จนดันให้แฮชแท็ก #คลับเฮ้าส์toxic ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ ท่ามกลางความไม่พอใจของคนอีสาน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมและ สรุปดราม่า "ด่าคนอีสาน" ตั้งแต่ต้นจนจบมาให้รู้กันอีกครั้ง พร้อมชวนตั้งคำถามว่า เรื่องนี้สังคมควรปล่อยผ่านไปเพื่อไม่ให้เกิดการปั่นกระแส หรือควรชี้ให้เห็นปัญหาและแก้ไขทัศนคติเหมารวม (Stereotype)

1. ดราม่า "ด่าคนอีสาน" ต้นทางเกิดขึ้นที่ "ClubHouse"

เมื่อค่ำคืนวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา ในแอพฯ "ClubHouse" มีการตั้งกลุ่มพูดคุยในหัวข้อ เหยียดคนอีสาน ขึ้นมาหลายห้องในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยมีการใช้ชื่อกลุ่มแตกต่างกันไป เช่น “อีสานมีหน้าที่แค่เกี่ยวข้าวให้คนกรุง__”, “คนอีสานคือ__ในชีวิตจริง Resident Esan”, “อีสานตื่นยัง__ข้า” ฯลฯ

โดยหนึ่งในนั้นพบว่ามีหญิงสาววัย 17 ปี ซึ่งเป็นคนอีสานชาวจังหวัดอุดร ก็มาร่วมวงด่าคนอีสานในห้องพูดคุยดังกล่าวด้วย ทำให้กระแสความไม่พอใจยิ่งโหมกระพือหนักขึ้น

สรุปดราม่า \"ด่าคนอีสาน\" สังคมควรปล่อยผ่านหรือร่วมแก้ทัศนคติเหมารวม

 

2. กลุ่มบูลลี่คนอีสาน พาดพิงถึงโหนกระแส

ในขณะที่กลุ่ม บูลลี่คนอีสาน พูดคุยกันอยู่ในห้องคลับเฮ้าส์ มีบางช่วงบางตอนได้พูดพาดพิงถึง รายการโหนกระแส ที่มี "หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย" เป็นพิธีกรดำเนินรายการ โดยมีบางคนกล่าวถึงรายการนี้ว่า "ต่อให้ได้ไปออกโหนกระแส ก็จะไม่มีวันขอโทษคนอีสาน" 

ไม่นานนัก ก็มีการตอบกลับจากทาง "หนุ่ม-กรรชัย" ผ่านโซเชียลมีเดียระบุว่า "เห็นว่าอยากมาออกรายการโหนกระแส ยินดีนะครับ รออยู่นะฮะ มาเลย จะได้ชี้แจงไปว่าคุณไปด่าคนอีสานเขาทำไม คุณโตมาแบบไหน ผมก็อยากรู้ มานะครับ"

3. "ด่าคนอีสาน" อาจเป็นการปั่นกระแสจาก "แอคหลุม"

มีรายงานจาก "เนชั่นออนไลน์" ระบุว่า กรณีนี้สมาชิกหลายคนที่ร่วมพูดคุยในคลับเฮาส์ ไม่ได้มีตัวตนจริงๆ แต่ขโมยรูปภาพของคนอื่นสร้างเป็นภาพโปรไฟล์ และเข้าไปร่วมพูดคุย เพื่อเข้าร่วมพูดคุยในประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าของภาพตัวจริง ที่กลายเป็น “ผู้เสียหาย” ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดราม่าเหล่านี้

ขณะที่พฤติกรรมลักษณะของวัยรุ่นกลุ่มนี้ คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น การสร้างเฟซบุ๊กในลักษณะ "แอดเคาท์หลุม" และขโมยรูปคนอื่นมาสร้างเป็นโปรไฟล์ เพื่อพูดถึงประเด็นดราม่าอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมีนัยแอบแฝง หวังปั่นกระแสให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นในสังคม แต่ครั้งนี้มีการพัฒนาไปใช้ "คลับเฮาส์" เป็นเวทีล่อเป้าแทน

สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้โซเชียลต้องระมัดระวัง คือ เมื่อมีการโต้เถียงกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ อาจถูกขโมยรูปภาพไปใช้ เพื่อก่อเหตุต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น

 

4. ชาวเน็ตตั้งคำถาม เรื่องนี้ควรปล่อยผ่านหรือถกให้แก้ไข?

ขณะเดียวกัน "คมชัดลึกออนไลน์" ก็มีรายงานว่าทางด้าน "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" ผู้ประกาศข่าวชื่อดังได้ออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นดราม่าดังกล่าว โดยระบุว่า 

"สื่อหลัก ผมคิดว่าไม่ควรจะไปขยายให้เป็นเรื่องที่เขาว่ากันในนั้น เพราะคนโดยทั่วไปเขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้นกับคนอีสานแต่ประการใด คนอีสาน ถ้าถามผมท่านคือกระดูกสันหลังของประเทศนี้นะ ไม่ว่าจะเรื่องทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ เพราะฉะนั้นถ้าไปขยาย ก็จะเข้าทางกลุ่มคนที่ต้องการปั่นป่วน และจะทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะฉะนั้นหยุดเอาไว้แค่นี้"

แต่มีชาวเน็ตออกมาแสดงความคิดเห็นในอีกมุมหนึ่งว่า เรื่องนี้ไม่ควรปล่อยผ่านไปง่ายๆ อาจปล่อยผ่านในตัวบุคคลได้ แต่ไม่ควรปล่อยผ่านชุดความคิดนี้ ควรนำมาถกเกถียงกันต่อ และชี้ให้สังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาการเหมารวม (Stereotype) แบบผิดๆ นำไปสู่กับปรับกระบวนทัศน์ทางสังคมใหม่ เป็นต้น

สรุปดราม่า \"ด่าคนอีสาน\" สังคมควรปล่อยผ่านหรือร่วมแก้ทัศนคติเหมารวม

5. ดราม่าลามถึงครอบครัว เกิดเหยื่อสังคมโดยไม่ตั้งใจ

หลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดการล่าแม่มดขึ้นในโลกโซเชียล และลามไปถึงโลกในชีวิตจริง โดยมีการสืบค้นประวัติและที่อยู่ของหญิงสาวคนหนึ่งที่ร่วมวงด่าคนอีสานในคลับเฮ้าส์ จนทำให้คนในครอบครัวของเธอได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยทางครอบครัวต้องออกมาขอโทษสังคมผ่านสื่อในประเด็นดังกล่าว และแสดงความเสียใจต่อเกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น