ก้าวไกล ยื่นประธานสภาฯ ชงศาลรธน.สอบคุณสมบัติ"นิพนธ์" จี้ "จุรินทร์" พิจารณา

ก้าวไกล ยื่นประธานสภาฯ ชงศาลรธน.สอบคุณสมบัติ"นิพนธ์" จี้ "จุรินทร์" พิจารณา

ก้าวไกล ยื่นประธานสภาฯ ชงศาลรธน.สอบคุณสมบัติ"นิพนธ์" เจอ "เลขาประธานสภาฯ" สวนกลับไปดูข้อกฎหมาย เหตุ "นิพนธ์"ไม่ใช่ส.ส. "ณัฐวุฒิ" โต้กลับใช้สิทธิในฐานะส.ส.-ประธานสภามีหน้าที่แค่บุรุษไปรษณีย์

ที่รัฐสภานายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย  นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร , นานสมชาย ฝั่งชลจิตร , นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เเถลง กรณีขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา160 (6)และมาตรา 98 (8)

โดยนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องที่พรรคก้าวไกลได้ตรวจสอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนหน้านี้ กระทั่ง มีคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยสั่งให้นายนิพนธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในวาระการดํารงตําแหน่งตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2562 โดยคำสั่งลงวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เป็นเหตุให้นายนิพนธ์ มีลักษณะต้องห้ามขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ซึ่งเป็นอำนาจวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

 พรรคก้าวไกล จึงร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรคประชาชาติ เเละพรรคเสรีรวมไทย จนครบจำนวน 50 รายชื่อ ตามระเบียบ จึงยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
 

ด้าน ประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า หากยังจำได้ช่วงต้นปี ตนได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายนิพนธ์  พร้อมนำเสนอหลักฐานหลายอย่างดังที่ปรากฎในสภาผู้เเทนราษฎร เเละภายหลังอภิปรายจึงได้ยื่นต่อคณะกรรมการการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตเเละประพฤติมิชอบ ( ป.ป.ช.) ให้พิจารณาหลักฐาน ต่อมา จึงมีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1528/2564 ให้นายนิพนธ์ พ้นจากตําแหน่ง  

"จากข้อเท็จจริงข้างต้นจึงฟังได้ว่า นายนิพนธ์ ถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564 อันเป็นวันที่มีคําสั่ง กระทรวงมหาดไทย 


“จากการพ้นจากตำเเหน่งที่เกิดขึ้นจึงขอเรียกร้องในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง เมื่อคณะกรรมการการป้องกันเเละปราบปราม การทุจริตเเละประพฤติมิชอบ ( ป.ป.ช.)  ชี้มูลความผิด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ออกคำสั่งปลดนายนิพนธ์ เราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จึงยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้เทนราษฎร โดยรวบรวมรายชื่อสมาชิกไม่ต่ำกว่า 1 ใน 10 เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ความสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรี จากกรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 กรณีไม่จ่ายเงินให้บริษัทที่จัดซื้อจัดจ้าง ที่จังหวัดสงขลา ภายใต้อำนาจหน้าที่ณ เวลานั้น ซึ่งการถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่าเป็นกระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ”

ทั้งนี้ ประเสริฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นการประพฤติตนที่ไม่เหมาะสม ต่อการเป็นผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ การจัดซื้อจัดจ้างจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามคุณธรรมเเละจริยธรรม การยื่นคำร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะเป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบ แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ขอเรียกร้องให้ นายนิพนธ์ มีสำนึกในคุณธรรม จริยธรรม ในฐานะผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองพิจารณาตัวเอง เเละขอเรียกร้องต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้พิจารณาคุณสมบัติของนายนิพนธ์ ด้วยหลักคุณธรรม จริยธรรมของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองด้วย
.
อย่างไรก็ตาม ในการรับหนังสือมีการเห็นแย้งกันในข้อกฎหมาย โดย สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้มารับหนังสือดังกล่าว พร้อมระบุว่า ต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปดูรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เนื่องจากนายนิพนธ์  ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในมาตรา 170 ผู้ที่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดลงของรัฐมนตรีหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ใช่หน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร คิดว่าสมาชิกอาจจะเข้าใจสับสน จากในอดีตที่เคยมีสมาชิกเข้าชื่อยื่นให้ประธานสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี เช่น กรณี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า , นายพุฒิพงษ์ ปุณกัณต์ , นายถาวร เสนเนียม เเต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหล่านั้น สวมหมวกสองใบ คือเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีด้วย

เเต่กรณี นายนิพนธ์ ไม่ได้เป็น ส.ส. ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีสิทธิในการส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ทำให้นายณัฐวุฒิ  จึงแย้งว่า ประเด็นนี้พรรคก้าวไกลยืนยันว่า สส.ส.สามารถเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ตามมาตรา 170 วรรค 3 ที่กำหนดให้นำมาตรา 82 มาใช้ โดยต้องไปดูที่มาตรา 82 ทุกวรรค ซึ่งวรรคหนึ่ง กำหนดถึงเรื่องการเข้าชื่อยื่นเสนอต่อประธานแห่งสภาของตน

การเข้าชื่อกรณีนายนิพนธ์ เป็นการเอา 82 วรรคหนึ่งมาบังคับใช้โดยอนุโลม ส่วนการที่มีข้อความในมาตรา 170 วรรคสามส่วนท้าย ว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วยนั้น ต้องหมายถึงการให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกสภา ซึ่งไม่อาจยื่นโดยผ่านช่องทางประธานสภาตามมาตรา 82 ได้ จึงต้องไปยื่นต่อ กกต. เพื่อให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

นอกจากนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีอำนาจหรือดุลยพินิจใด ๆ ทั้งสิ้น ต้องทำหน้าที่ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลจะวินิจฉัยเอง ประธานสภาจะทำหน้าที่เป็นเหมือนบุรุษไปรษณีย์เท่านั้น และพรรคก้าวไกลยืนยันว่า จะส่งเรื่องนี้ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญต่อจริยธรรม

ซึ่งต้องขอเรียกร้องความรับผิดชอบต่อจริยธรรมของพรรคการเมืองไปยังพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมขอให้นายจุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พิจารณาคุณสมบัติของ นายนิพนธ์ ว่าเหมาะสมต่อการเป็นรัฐมนตรีเเละสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่