"สุรชาติ" ห่วง "ความยากจน" จุดชนวน ล้มประชาธิปไตย

"สุรชาติ" ห่วง "ความยากจน" จุดชนวน ล้มประชาธิปไตย

"นักรัฐศาสตร์" ชี้ ประชาธิปไตย ถูกออกแบบด้วยสูตร 6+6 เพื่อตอบโจทย์อำนาจทหาร-รัฐพันทาง แนะให้รื้อ เพื่อสร้างประชาธิปไตยใหม่ ห่วงภาวะยากจน จุดชนวนล้มประชาธิปไตยอีก

        นายสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวปาฐกถานำ เรื่อง ภูมิทัศน์การเมืองไทย กับ ประชาธิปไตยในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 23 ประจำปี 2564 เรื่อง ประชาธิปไตยในภูมิทัศน์ใหม่  ตอนหนึ่งว่า  การเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยถูกท้าทายด้วยมิติของเทคโนโลยีที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำการปฏิวัติสังคมไปสู่อนาคตอย่างคาดไม่ถึง นอกจากนั้นในภาวะของการระบาดโควิด-19 และ การเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศ จะทำให้บริบททางสังคม โดยเฉพาะการเกษตร ไม่สามาถผลิตอาหารได้ และอาจเข้าสู่ความท้าทายของวิกฤตด้านอาหาร  และผู้คนยากจนมากขึ้น 

 

        "อย่าลืมว่าในครั้งหนึ่งความยากจน เป็นเหตุที่นำไปสู่การเข้ามาของนักประชานิยม ต้นเหตุของการล้มระบอบประชาธิปไตยหรือโค่นเสรีนิยม วันนี้ คนจนมากขึ้น และเป็นความยากจนอย่างแสนสาหัส  ขณะที่ชนชั้นกลางมีแนวโน้มเป็นคนจน  ในทางรัฐศาสตร์ มองว่าเป็นโจทย์ที่น่ากลัว เพราะจะก่อกระแสอำนาจนิยมได้ง่าย หรือ ชนชั้นกลางที่ยากจน กลายเป็นเหยื่อของประชานิยมปีกขวาที่ล้มประชาธิปไตย” นายสุรชาติ กล่าว

 

        นายสุรชาติ กล่าวด้วยว่าสำหรับประชาธิปไตยไทย และการสร้างประชาธิปไตยของประเทศอยู่ในภาวะล้มลุกคลุกคลานต่อเนื่อง หากเปรียบประชาธิปไตย เปรียบเหมือนนักกีฬา แม้จะชกชนะ หรือ วิ่งเข้าเส้นชัย จะทำให้แพ้ เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีอำนาจพิเศษในการล้มประชาธิปไตย ผ่านกลไกของทหาร หรือเสนานิยม  

        นายสุรชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเมืองไทยถูกออกแบบมาในสูตร  6+6  กล่าวคือ  6 แรก เป็นการออกแบบโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือ  

 

        1. ออกแบบโครงสร้างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย

 

         2. ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ภายหลังรัฐประหารเพื่อสร้างการเมืองไทยแบบพันทาง

 

         3. ออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่สร้างหายะให้ชาติ และเขียนขึ้นเพื่อรองรับอำนาจผู้นำทหารที่อยู่ในการเมืองไทย ในระบอบพันทาง สิ่งที่ถูกออกแบบชัดเจน คือ บทบาทกองทัพ ขยายอำนาจทหาร

 

        4. สร้างโครงสร้างแบบรัฐซ้อนรัฐ เพื่อให้รัฐหลังเลือกตั้งไม่มีขีดความสามารถ

 

        5. ออกแบบองค์กรอิสระที่ไร้อิสระ และตอบสนองการสร้างอำนาจระบอบพันทาง

 

        และ 6.  ออกแบบระบบตอบสนองการดำรงอยู่ของความไม่เป็นประชาธิปไตย

 

        นายสุรชาติ กล่าวว่า ขณะที่ 6 หลัง คือการสร้างกลไก ได้แก่

 

        1. สร้างกฎหมายไม่เป็นนิติรัฐ เพราะหากไม่สามารถสร้างนิติรัฐในสังคมไทยได้ คำตอบที่ชัดเจน คือ ประชาธิปไตยเกิดไม่ได้

 

        2. สร้างข้อมูลข่าวสารและใช้ การโฆษณาทางการเมือง

 

         3. สร้างกลไกควบคุมทางการเมือง คุมกระแสต่อต้านทางการเมือง ผ่านกลไกใช้อำนาจฝ่ายทหาร ตำรวจและสถาบันตุลาการเพื่อควบคุมผู้เห็นต่าง

 

        4.สร้างกลไกรัฐราชการ

 

        5.การสร้างพรรคทหาร เพื่อรับมอบอำนาจ ดำเนินการทางการเมือง เพื่อให้ผุ้นำทหารชุดเดิมมีอำนาจสืบทอดได้ ที่สอดรับรัฐธรรมนูญ คือ มีชุดทหารในส.ว. และชุดธรรมดาในสภาฯ ทั้งนี้ในอดีตพรรคทหารไม่เคยสดใส คือ การสิ้นสุดทางอำนาจของผู้นำทหาร ทั้งนี้พรรคทหารที่สร้างในระบอบการเมืองไทยจะซ้ำรอยการล่มสลายหรือไม่

 

        และ 6. กลไกเอาชนะจิตใจประชาชน 

 

        "ระบอบการเมืองกึ่งอำนาจนิยม หรือ รัฐพันทางไทย พยายามเอาชนะใจประชาชน ด้วยประชานิยมทหารไทย เอาชนะด้วย โครงการลดแลกแจกแถม และหวังว่าการแจกจะซื้อใจและนำไปสู่ชัยชนะทางการเมืองอนาคต ดังนั้นสูตรปุ๋ย 6+6 จะทำให้ระบบพันทาง เติบโตในสังคมไทย อาการแบบนี้ทำให้การเปลี่ยนผ่านสังคมไทยเจอความซับซ้อนและยุ่งยาก ทั้งนี้ผมเคยพูดเล่นๆ ว่า แบบนี้คือสี่เสาของฝ่ายขวาไทย หรือ ฝ่ายอำนาจนิยม มีสองคานที่แข็งแรง คือ คานของเสนาธิปไตยและตุลาการธิปไตยที่ไม่ยอมให้ประชาธิปไตยได้เป็นเสาใหม่”นายสุรชาติ กล่าว

 

        นายสุรชาติ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยต้องคิดใหม่ และตนขอเสนอให้รื้อบ้านหลังเก่าดี เพื่อให้เป็นบ้านหลังใหม่ของประชาธิปไตย คือ นักอนุรักษ์ที่เป็นเสรี ต้องเป็นพลัง เพื่อ 1.สร้างกองทัพที่เป็นประชาธิปไตย, 2.มีระบอบทุนนิยมที่ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมและประชาชน และ 3.ระบอบจารีตที่ไม่กลัวจนเกินเหตุและกลายเป็นภาระของสังคม   นอกจากนั้น ต้องมี 2 คานที่เข้มแข็ง คือ มีนิติรัฐ นิติธรรมให้สังคมไทย และประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ.