ร.ฟ.ท. สั่ง “ซีพี” พับแผน หมดเวลาย้ายสถานีไฮสปีด

ร.ฟ.ท. สั่ง “ซีพี” พับแผน หมดเวลาย้ายสถานีไฮสปีด

การรถไฟแห่งประเทศไทย เดินหน้าส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเทรนสามสนามบิน ม.ค.นี้ ปัดย้ายจุดสร้างสถานีชลบุรี สถานีพัทยาและสถานีฉะเชิงเทรา หลังเอกชนเคลียร์ไม่ชัดผลประโยชน์

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และเอกชน คือ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (AERA1) ซึ่งขณะนี้เอกชนได้เริ่มบริหารโครงการส่วนแรกอย่างรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนงานก่อสร้างไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมส่งมอบพื้นที่ ส่วนกรณีเอกชนคู่สัญญามีข้อเสนอขอย้ายสถานี 3 แห่ง คือ สถานีชลบุรี สถานีพัทยาและสถานีฉะเชิงเทรา หลังจากมีการหารืออย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันข้อเสนอดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปหรือได้รับการอนุมัติ

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุถึงกรณีข้อเสนอการย้ายสถานีไฮสปีดเทรนว่า ก่อนหน้านี้ทางเอกชนมีข้อเสนอขอย้ายสถานี 3 แห่ง คือ สถานีชลบุรี สถานีพัทยาและสถานีฉะเชิงเทรา โดย ร.ฟ.ท.ได้ขอข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าจะมีพื้นที่ย้ายไปบริเวณใด จะเกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชน หรือชุมชนโดยรอบ และนำมาหารือประกอบการตัดสินใจ แต่ไม่ได้รับข้อมูลจากทางเอกชน และไม่ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวกลับมาเจรจาอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยแผนส่งมอบพื้นที่โครงการดังกล่าวต้องเร่งรัดให้เป็นไปตามแผน ซึ่งขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้เตรียมพื้นที่พร้อมส่งมอบใกล้ 100% แล้ว ดังนั้นเมื่อทางเอกชนไม่ส่งข้อมูลประกอบการพิจารณากรณีย้ายสถานี ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าพัฒนาสถานีตามผลการศึกษาเดิมที่ระบุไว้ในสัญญา โดยเอกชนจะต้องพัฒนาโครงการ แนวเส้นทาง และสถานี ให้เป็นไปตามแผนกำหนดไว้ หากอนาคตเล็งเห็นถึงความจำเป็นต้องย้ายสถานี จะต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างสถานีเพิ่มให้เป็นสถานีย่อย

ร.ฟ.ท. สั่ง “ซีพี” พับแผน หมดเวลาย้ายสถานีไฮสปีด

 “เมื่อไม่ได้รับความชัดเจนจากทางเอกชน การรถไฟฯ ก็มีความจำเป็นต้องเวนคืนตามแผน และเมื่อเวนคืนที่ดินไปแล้ว ท้ายที่สุดเอกชนจะมาปรับสถานี ก็ต้องนำพื้นที่นี้ไปด้วย และต้องนำไปพัฒนาตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ถ้าไม่ทำก็ผิดกฎหมาย อาจถูกฟ้อง และหากเป็นเช่นนั้นเอกชนก็ต้องรับผิดชอบ”

สำหรับการส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. การแก้ปัญหาผู้บุกรุก ขณะนี้ได้ดำเนินการเจรจากับผู้บุกรุกในพื้นที่ระหว่างช่วงสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภาและมีการย้ายออกแล้ว

2.การเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ร.ฟ.ท.ต้องทำสัญญาซื้อขายจำนวน 737 สัญญา มูลค่า 4,121 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 679 หลังคาเรือน 923 ไร่

3.งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคได้ดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูโภคช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา จำนวน 756 จุด

ร.ฟ.ท. สั่ง “ซีพี” พับแผน หมดเวลาย้ายสถานีไฮสปีด

วรวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงและ TOD สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน โดยระบุว่า ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการส่งมอบพื้นที่ระยะแรก ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กิโลเมตร ซึ่ง ร.ฟ.ท. เคลียร์พื้นที่พร้อมส่งมอบแล้ว 98% คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ไม่เกินเดือน ม.ค.2565

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติให้ ร.ฟ.ท.เจรจาเอกชนเพื่อก่อสร้างโครงสร้างโยธาร่วมทั้งหมด รองรับรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน โดยจะมีการก่อสร้างในเดือน ก.พ.2565 ส่วนพญาไท - บางซื่อ เป็นงานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ ต้องมีการรื้อย้ายท่อน้ำมัน คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มก่อสร้างกลางปี 2566

“ตอนนี้ทุกอย่างยังเดินหน้าเป็นไปตามแผนงาน การรถไฟฯ เตรียมพื้นที่พร้อมส่งมอบอยู่แล้ว ดังนั้นในปี 2565 จะเริ่มก่อสร้างไฮสปีดสามสนามบินช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภาแน่นอน และหลังจากนั้นจะทยอยส่งมอบช่วงอื่นๆ ตามแผน เพื่อเปิดให้บริการในปี 2571”

ขณะที่บริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ร.ฟ.ท.และเอกชนได้จัดทำข้อตกลงให้เอกชนเข้าสนับสนุนการเดินรถและซ่อมบำรุงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564 และขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อปริมาณผู้โดยสาร

ทั้งนี้ เมื่อไฮสปีดเทรนสามสนามบินเปิดให้บริการครบตลอดเส้นทาง จะใช้เวลาเดินทางจากดอนเมือง-อู่ตะเภา ประมาณ 1.25 ชั่วโมง ใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนการเดินรถในเมืองช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ อาจใช้ความเร็วที่ประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยไฮสปีดเทรนสายนี้จะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อพัฒนาโดยรอบสถานี หรือ TOD ที่สถานีมักกะสัน จำนวน 140 ไร่ เมื่อมีการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นการพัฒนาเมือง เป็นศูนย์กลางการเดินทางในประเทศและภูมิภาค

สำหรับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน จะใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ในส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา โดยมีสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา