“จุรินทร์”ถกาสวิส ดันเปิดเจรจาดัน FTA ไทย-เอฟตา

“จุรินทร์”ถกาสวิส ดันเปิดเจรจาดัน FTA ไทย-เอฟตา

“จุรินทร์” หารือประธานวุฒิสภาสวิส ดัน FTA ไทย-เอฟตา เป็นฉบับที่ 15 ต่อจาก RCEP ที่สำเร็จ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลัง นาย Alex Kuprecht ประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส  ขอเข้าเยี่ยมคารวะและหารือ  ว่า ได้มีการหารือถึงความสัมพันธ์ทางการค้า โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า  ต้องการผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free)

Trade Association : EFTA) หรือ เอฟตา ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์

โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีนี้จะเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ให้จบสิ้นในประเด็นสำคัญ และไตรมาสแรกของปีหน้า จะเริ่มการเจรจาในแต่ละหัวข้อที่จะบรรจุในข้อบท  FTA ของประเทศไทยกับเอฟตาต่อไป  ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะเจรจาให้จบเร็วที่สุด เพราะถ้า FTA ไทยกับเอฟตา เกิดขึ้นได้ จะมีประโยชน์ในเรื่องมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย

ขณะนี้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับที่ 13 ของประเทศไทย มีมูลค่าการค้ารวม ปี 2563  ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากสถานการณ์โควิดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการค้าลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์  ติดลบประมาณ 42% แต่เชื่อว่าถ้า FTA ไทยเอฟตาเกิดขึ้นได้ มูลค่าการค้าระหว่างกันจะเป็นบวกต่อไป และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องการส่งออกประเทศไทยมีสินค้าที่จำเป็นและสามารถทำตลาดในกลุ่มประเทศเอฟตา รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ได้ เช่น ข้าวพรีเมี่ยม ข้าวคุณภาพสูง รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปอาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป และสินค้าที่เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือแพทย์ สินค้าเพื่อสุขภาพ ที่ไทยสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเอฟตาได้

“หาก FTA ไทยเอฟตาประสบความสำเร็จ จะกลายเป็น FTA ฉบับที่ 15 ซึ่งปัจจุบันไทยมี FTA แล้ว 13 ฉบับ และกำลังจะมีฉบับที่ 14 เกิดขึ้นคือ RCEP ซึ่งประเทศไทยได้ยื่นให้สัตยาบันต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่จาการ์ตาแล้ว และกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ต้องให้สัตยาบันไม่ต่ำกว่า 6 ประเทศ ซึ่งครบแล้ว และนอกกลุ่มอาเซียนมี 5 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว 4 ประเทศ เป้าหมาย RCEP คือ ต้นปีหน้าน่าจะสามารถบังคับใช้ได้ซึ่งจะกลายเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย และหาก FTA ไทย-เอฟตาประสบความสำเร็จจะเป็นฉบับที่ 15 ต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว