พาณิชย์กางผลประโยชน์จากอาร์เซ็ปหลังมีผลบังคับใช้ม.ค.ปีหน้า

พาณิชย์กางผลประโยชน์จากอาร์เซ็ปหลังมีผลบังคับใช้ม.ค.ปีหน้า

‘จุรินทร์’ ประกาศ ไทยยื่นสัตยาบัน RCEP แล้ว ตั้งเป้าต้นม.ค. 65 มีผลบังคับใช้ เผยสินค้าไทย 29,891 รายการได้ลดภาษีทันที 0%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ไทยได้ยื่นสัตยาบันต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแล้ว ส่วนประเทศสมาชิกที่ยื่นสัคยาบันแล้วประกอบด้วยสิงคโปร์ บรูไนฯ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนประเทศนอกสมาชิกอาเซียน มีจีนกับญี่ปุ่นยื่นสัตยาบันแล้ว หากมีอีก 1 ประเทศ ก็ถือว่าครบตามเงื่อนไข ซึ่งตามเงื่อนไขการบังคับใช้ได้กำหนดว่า   คือ ต้องมีประเทศอาเซียนไม่น้อยกว่า 6 ประเทศจาก 10 ประเทศ ให้สัตยาบัน และประเทศนอกอาเซียนที่มี 5 ประเทศ อย่างน้อย 3 ประเทศ รวมเป็น 3+6 เป็น 9 ประเทศ 

คาดว่าต้นปีหรือเดือนม.ค. 2565 ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ในประเทศสมาชิก 15 ประเทศต่อไป ซึ่งจะทำให้ RCEP กลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันถึง 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก และทำให้กลุ่มประเทศ RCEP มีจีดีพี 33.6% ของจีดีพีโลก หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก มูลค่าการค้าประมาณ 30% ของมูลค่าการค้าโลก ถ้ามีผลบังคับใช้ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย

สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากอาร์เซ็ป โดยการส่งออกสินค้าอย่างน้อย 39,366 รายการ จะลดภาษีนำเข้าเหลือ 0%จำนวน 29,891 รายการ ทันทีที่บังคับใช้  และจะเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทยหลายรายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น  รวมทั้งจะได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะการส่งออกเมื่อสินค้าไปเข้าสู่ด่าน และหากเป็นสินค้าเน่าเสีย ผู้ค้าจะต้องปล่อยสินค้าภายในเวลา 6 ชั่วโมง จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกผลไม้ ผักและสินค้าเน่าเสียหลายรายการของไทย

รวมทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ หรือระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการการค้าออนไลน์มีตลาดกว้างขึ้น มีกฎเกณฑ์กติกาชัดเจน และผู้บริโภคของไทยก็จะได้รับความคุ้มครองมากขึ้น จากการนำเข้าสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากประเทศสมาชิก RCEP นอกจากนี้ไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่มีผู้เข้ามาลงทุน โดยไทยสามารถส่งออกสินค้าบริการไปยังสมาชิกได้มากขึ้น ภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจการก่อสร้าง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพแข่งขันได้ดีมาก การค้าปลีก โดยไปเปิดห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมทั้งการให้บริการด้านสุขภาพ ภาพยนตร์ และผลิตภัณฑ์ด้านบันเทิงแอนนิเมชั่น เป็นต้น และ ไทยจะมีทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนจากประเทศสมาชิกที่มีความหลากหลายขึ้น

 

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับ RCEP มีมูลค่าการค้ารวม 2.52 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 7.87 ล้านล้านบาท คิดเป็น 57.5%  ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไป RCEP มูลค่า 1.23 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 53.3 %  ของการส่งออกไทยไปโลก และไทยนำเข้าจาก RCEP มูลค่า 1.29 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 62.1 %  ของการนำเข้าไทยจากโลก

รายงานจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สำหรับการให้บริการข้อมูลข่าวสารของความตกลง RCEP รวมถึง FTA อื่นๆ ที่ไทยเป็นภาคีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจสามารถสอบถามและสืบค้นข้อมูลได้ที่ ศูนย์บริการ “RCEP Center” ของกระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 7555 หรือเว็บไซต์ www.dtn.go.th