"โควิด-19" ปัตตานี เสียชีวิต 7 คน 93.5%ของผู้เสียชีวิตสะสมไม่ได้รับวัคซีน

"โควิด-19" ปัตตานี เสียชีวิต 7 คน 93.5%ของผู้เสียชีวิตสะสมไม่ได้รับวัคซีน

สถานการณ์ COVID-19 พื้นที่ จ.ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 634 คน เสียชีวิต 7 ราย 93.5 เปอร์เซ็นของผู้เสียชีวิตสะสมไม่ได้รับวัคซีน

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ยังน่าเป็นห่วง หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุด โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อ วันที่ 31 ต.ค. 64 พุ่งอีก 634 ราย เสียชีวิต 7 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดติดเชื้อสะสม 37,880 ราย รักษาหาย 22,038 ราย และเสียชีวิตสะสม 376 ราย โดยสาเหตุผู้เสียชีวิตที่ผ่านมาพบว่า 74.7 % มีโรคเรื้อรัง 63.6% อายุมากกว่า 60 ปี และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ผู้เสียชีวิต 93.5% ไม่มีการฉีดวัคซีน เนื่องจากประชาชนบางที่อยู่ชานเมืองยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าฉีดแล้วจะเกิดอันตรายถึงชีวิต เช่นเดียวกับชาวมุสลิมก็ยังมีความเชื่อว่าวัคซีนมีส่วนผสมโปรตีนจากหมู ซึ่งด้านจุฬาราชมนตรีก็ออกมายืนยันแล้วว่าวัคซีนสามารถฉีดได้ ไม่มีสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา อีกทั้งไม่มีส่วนผสมของหมูแต่อย่างใด

ขณะที่ สาธารณสุขได้นำรถโมบายล์วัคซีน เซราะกราว HERO โดยการช่วยเหลือจาก สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ออกหน่วยบริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มแรก ทั้ง 12 อำเภอ ให้กับประชาชน เด็กนักเรียน รวมถึงพ่อค้า แม่ค้า โดยมีแผนออกหน่วยบริการตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม -19 พฤศจิกายน 2564 เช่นเดียวกับศูนย์ฉีดวัคซีนหลักของจังหวัดปัตตานี ที่หอประชุมองค์การบริหารจังหวัดปัตตานี และที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ ยังคงมีการบริการฉีดวัคซีนทั้งแข็มแรก เข็มสอง และกระตุ้นเข็ม สาม โดยจังหวัดปัตตานีจะเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของทุกพื้นที่ หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดความรุนแรงของโรค และลดการเสียชีวิตจากโควิด19 พร้อมทั้งนี้ให้มีการตรวจเชื้อแบบATK เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ด้วยการระบาดของโควิด19 ในจังหวัดปัตตานีที่ยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ จังหวัดปัตตานีจึงออกคำสั่งขยายเวลาการห้ามออกจากเคหสถาน ระหว่างเวลา 23.00 น.-03.00 น. จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจาหน้าที เพื่อการเฝ้าระวัง และควบคุมโรคติดต่ออันตรายเป็นไปอย่างต่อเนื่องและประสิทธิภาพต่อไป