จับตา! เสนอ ศบค. ชุดใหญ่ ปรับจังหวัดโซนสีแดงเข้มจาก 23 เหลือ 7 จังหวัด

จับตา! เสนอ ศบค. ชุดใหญ่ ปรับจังหวัดโซนสีแดงเข้มจาก 23  เหลือ 7 จังหวัด

เตรียม เสนอ ศบค. ชุดใหญ่ 29 ตุลาคม 2564 ปรับจังหวัดโซนสีแดงเข้มจาก 23 เหลือ 7 จังหวัด ปรับลดความเข้มข้นของมาตรการ รองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุม ศปก.ศบค. เตรียมเสนอ ปรับลดความเข้มข้นของมาตรการ ลงเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้จะมีการเสนอขอปรับโซนสีพื้นที่จังหวัดจากสีแดงเข้ม ที่เดิมมี 23 จังหวัดให้เหลือเพียง 7 จังหวัด ประกอบด้วย 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา นราธิวาส สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช รวมถึง 2 จังหวัด คือ  จันทบุรี และ ตาก

อย่างไรก็ตามทั้ง 7 จังหวัดนี้ จะยังคงมาตรการเดิมของพื้นที่สีแดงเข้ม จะไม่มีการเข้มมาตรการใดมากขึ้น และไม่มีการปรับเรื่องของเวลาการออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน หรือ เคอร์ฟิว แต่อย่างใด

สำหรับ ศบค. ส่วนหน้าได้เตรียมรายงาน ความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเตรียมเสนอ 5 แนวทาง ได้แก่ การป้องกัน การควบคุม การรักษา การเยียวยา และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรการผ่อนคลาย
 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า พื้นที่ ศบค. สวนหน้ายืนยันว่ามีวัคซีนเพียงพอ เหลือเพียงแต่ขั้นตอนของกระบวนการที่เจ้าหน้าที่จะเข้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเท่านั้น ซึ่งขณะนี้กำลังเชิญชวนประชาชน ให้เข้ามารับวัคซีนให้มากขึ้น โดยเป็นการบูรณาการงานทุกภาคส่วนร่วมกัน และทางชุมชนเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ความกังวล ในการทำงานของศบค.ส่วนหน้าคือ ตัวเลขผู้เสียชีวิต และจำนวนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่ยังมีความห่วงใยอยู่ และต้องการให้จำนวนตัวเลขลดลงมากกว่านี้ ซึ่งศบค.ส่วนหน้าระบุว่าจะพยายามอย่างเต็มความสามารถ

ขณะที่ ทางกระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ครั้งที่10/2564 โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
 

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค  ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า  ที่ประชุมเห็นชอบประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกรณีโรคติดเชื้อโควิด มีการกำหนดให้รูปแบบเอกสารให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม  รวมถึงการออกหนังสือรับรองวัคซีนให้ง่ายขึ้น ในระบบหมอพร้อม  ซึ่งส่งผลดีคือให้พี่น้องประชาชนออกหนังสือรับรองหนังสือวัคซีนทั้งเป็นเอกสารและรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายขึ้น

ที่ประชุมเห็นชอบกรอบดำเนินการรองรับการเปิดประเทศในด้านสาธารณสุขมีทั้งหมด 4 เป้าหมาย คือ สร้างความเชื่อมั่น สร้างความมั่นคงในระบบสาธารณสุข/ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ / และสร้างสังคมวิถีใหม่

ประโยชน์ที่สำคัญ คือ การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย และต้อลมีแผนรองรับการดูแลรักษา รวมถึงระบบการสื่อสารข้อมูลและกลยุทธ์ด้านบริหารจัดการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบตามคณะกรรมการวิชาการในเรื่องการลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กรณีที่เดินทางโดยเครื่องบินโดยลดระยะเวลากักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน  และเปลี่ยนนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใหม่ กรณีเดินทางโดยเครื่องบิน  เนื่องจากการติดเชื้อในเครื่องบินน้อยมาก หากมีมาตรการควบคุมโรค เช่น การใส่หน้ากากอนามัย จากเดิมที่นับกลุ่มเสี่ยงสูงสองแถวหน้าสองแถวหลังปรับให้เหลือ กลุ่มเสี่ยงสูงที่นั่งติดกับผู้ติดเชื้อแทนเท่านั้น

ปรับ 7 จังหวัดพื้นที่สีแดง

ส่วนกรณีผู้เดินทางข้ามประเทศ ทางบก ไม่มีเอกสารการตรวจคัดกรอง ต้องกักตัว 14 วันคงเดิม ขณะที่สถานการณ์ระบาดในประเทศมีแนวโน้มลดลง / แต่ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ตอนนี้ถืออยู่ในระดับการแพร่ระบาดที่ทรงตัวและยังต้องเฝ้าระวัง

สำหรับแผนการเปิดประเทศผู้ที่จะเดินทางเข้าไทยไม่ต้องกักตัว 46 ประเทศ หากฉีดวัคซีนครบโดส จะมีการตรวจเชื้อ 1 ครั้งก่อนเดินทางไปยังที่อื่น

ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีน ตอนนี้ทั่วประเทศ ฉีดวัคซีนไปได้กว่า 72 ล้านโดส ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 70 ล้านโดส ในเดือนตุลาคม

ขณะที่การออกหนังสือ วัคซีนพาสปอร์ต ตอนนี้ มีการออกหนังสือรับรองไปแล้ว 40,000 กว่าราย  ทางกรมควบคุมโรคได้ปรับระบบการจองออกหนังสือรับรองแบบออนไลน์ หากเอกสารครบ สามารถออกหนังสือรับรองได้ภายใน  1 ชั่วโมง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมี่ผ่านมา คือกลุ่มคนที่ walk in เข้ามาไม่ได้มีการจองล่วงหน้าและส่งข้อมูลไม่ครบ พอมาถึงหน้างานทำให้เกิดการล่าช้าในการออกหนังสือรับรอง

ทั้งนี้ มติในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯจะเสนอให้ศบค.พิจารณา ในวันที่ 29 ตุลาคม และประกาศเป็นแนวทางปฏิบัติอีกครั้ง