"นายกฯ"ร่วมประชุม "สุดยอดอาเซียน" แนะ เปิดภูมิภาค เดินทางอย่างปลอดภัย

"นายกฯ"ร่วมประชุม "สุดยอดอาเซียน" แนะ เปิดภูมิภาค เดินทางอย่างปลอดภัย

"นายกฯ" ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน พร้อม กล่าวถ้อยแถลง ร่วมมือสู้โควิด ทั้งถอดบทเรียน แนะ ควรเริ่มเปิดภูมิภาค ให้เดินทางไปมาอย่างปลอดภัย ชี้ เลี่ยงมาตรการไม่จำเป็น ต่อการเคลื่อนย้ายสินค้า ชง เดินหน้า นวัตกรรมสีเขียว ศก.ยั่งยืน เป็นมิตรกับโลก

ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำสมาชิกอาเซียน ในโอกาสนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 นี้ ซึ่งที่ประชุมมีประเด็นหลักที่หยิบยกขึ้นหารือหลักๆได้แก่ การรับมือกับความท้าทายสำคัญ โควิด – 19 บรูไนในฐานะประธานได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด – 19 ซึ่งได้ติดตามความคืบหน้าและพัฒนาการที่สำคัญของประชาคมอาเซียนด้วย 

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเห็นว่าการต่อสู้กับโควิด – 19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของภูมิภาคต่อภัยคุกคาม ดังนั้น นอกจากเราจะต้องร่วมมือกันแก้ไขเรื่องการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด – 19 แล้ว ควรถอดบทเรียนจากโควิด – 19 มาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาคมอาเซียนพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ได้เสนอประเด็นที่อาเซียนควรให้ความสำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

อ่านข่าว : จับตาไบเดนขึ้นเวทีอาเซียนซัมมิตย้ำสหรัฐอยากมีบทบาทในเอเชีย-แปซิฟิก

\"นายกฯ\"ร่วมประชุม \"สุดยอดอาเซียน\" แนะ เปิดภูมิภาค เดินทางอย่างปลอดภัย

ประการแรก ต้องดำเนินการตามข้อริเริ่มในกรอบอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรี ยินดีที่มีความคืบหน้ากรณีการเงินจากกองทุนอาเซียนจัดซื้อวัคซีนโควิด – 19 และหวังว่าประเทศสมาชิกจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงโดยเร็ว ทั้งนี้ ไทยได้แจ้งรายการสิ่งของที่บริจาคแก่คลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนฯ แล้ว หวังว่าจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งอาเซียนควรเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่และเสริมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขในระยะยาว ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ซึ่งไทยกำลังพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ และยินดีร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องนี้ต่อไป 

ประการที่สอง ควรเริ่มเปิดภูมิภาคและส่งเสริมการเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างปลอดภัย ใช้ประโยชน์จากกรอบการจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียน และควรจัดทำแนวทางการรับรองวัคซีนระหว่างกัน เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้เปิดพื้นที่นำร่องต้อนรับนักท่องเที่ยวภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัสไปแล้ว และจะเริ่มเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป 

\"นายกฯ\"ร่วมประชุม \"สุดยอดอาเซียน\" แนะ เปิดภูมิภาค เดินทางอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าต้องหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายสินค้า เพื่อรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน และใช้ประโยชน์จากตลาดภายในอาเซียนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่าเพื่อส่งเสริมสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุน ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับตามเป้าหมายและจะเดินหน้าการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดาได้โดยเร็ว 

ประการที่สาม โควิด – 19 ตลอดจนภัยธรรมชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุทกภัย ไฟป่า และหมอกควันข้ามพรมแดน สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของแนวทางการพัฒนาในปัจจุบันที่เน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นที่มาของวิกฤตต่าง ๆ ที่รุนแรง ดังนั้น ถึงเวลาที่จะต้องปรับกระบวนทัศน์ในการใช้ชีวิตทุกด้าน เพื่อสร้างความสมดุล ทำให้การฟื้นฟูและพัฒนาอาเซียนเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยดำเนินการอยู่ 

นายกรัฐมนตรี เห็นว่า “วาระสีเขียวของอาเซียน” ควรเป็นแนวทางของภูมิภาคในอนาคตเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับโลก โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียวเข้ามาช่วยสนับสนุน และต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงจากทุกภาคส่วน อาทิ 

1. การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

2. การใช้ทรัพยากรทั้งในดินและในทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค

3. การส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสู่เป้าหมาย “Digital ASEAN”

4. การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีสวัสดิภาพและมีคุณภาพชีวิต

5. การเงินสีเขียว สนับสนุนการลุงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนและส่งเสริมการรวมตัวของภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของโลก