"คลัง" จ่อหั่นภาษีนำเข้า "รถยนต์ไฟฟ้า" หนุนใช้ในประเทศ

"คลัง" จ่อหั่นภาษีนำเข้า "รถยนต์ไฟฟ้า" หนุนใช้ในประเทศ

คลังเล็งคลอดมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าปี 2565 เล็งลดภาษีนำเข้า กดราคาขายในประเทศให้ถูกลง พร้อมอัดแพ็คเกจเพิ่มแรงจูงใจคนซื้อ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล หนุนยอดผลิตอีวีให้ได้ 30% ภายในปี 2568

รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กำหนดเป้าหมายผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยระยะยาวจะต้องเป็นการผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ หรือ ZEV ให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้า 100% ภายในปี 2578 ภายในปี 2573 จะต้องผลิตรถไฟฟ้าให้ถึง 50% ของปริมาณการผลิตรถทุกชนิด และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในปี 2568 ที่ 1.05 ล้านคัน หรือ 30% ของรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการคลัง เตรียมอนุมัติมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเริ่มใช้ในต้นปี 2565 โดยในมาตรการนั้น จะทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ

“รัฐบาลตั้งเป้าหมายในระยะแรกว่าภายในปี 2568 จะต้องมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 30%ของจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในประเทศ ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เราจำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามาส่งเสริม”

อ่านข่าว : ทิศทาง "รถยนต์ไฟฟ้า" ของ "วอลโว่" ในประเทศไทย

ทั้งนี้มาตรการที่จะดำเนินการเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าวในระยะแรก จะใช้มาตรการส่งเสริมการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่เร็วที่สุดที่จะทำให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลจะทำควบคู่ไปกับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จ

แหล่งข่าวกล่าวว่า มาตรการส่งเสริมซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 จะทำให้ราคารถยนต์นำเข้าที่นำมาขายใยประเทศไทยมีราคาที่ถูกลงมาก จนสามารถจูงใจให้คนซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ ซึ่งเมื่อเกิดความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะจูงใจให้เกิดการลงทุนก่อสร้างสถานีชาร์จมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 จะมียอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด

สำหรับรายละเอียดของมาตรการส่งเสริมจะมีการประกาศในเร็วๆนี้ โดยจะเป็นแพ็คเกจ มีทั้งมาตรการภาษีและไม่ใช่มาตรการภาษี ที่อาจนำมาใช้สนับสนุน เช่น การลดภาษีรถยนต์ประจำปี,การลดราคาค่าทางด่วน หรือการสนับสนุนที่จดรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 

ส่วนการให้เป็นเงินอุดหนุนแก่ผู้ที่ซื้อรถไฟฟ้านั้น เหมือนในบางประเทศที่ใช้นั้น เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำมาใช้ในประเทศไทยหรือไม่

ปัจจุบันโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อิงอยู่กับการปล่อยก๊าซคาร์บอนของรถยนต์ ซึ่งหากปล่อยคาร์บอนต่ำ อัตราภาษีสรรพสามิตจะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนสูงกว่า ด้วยหลักการนี้จะทำให้รถไฟฟ้า ซึ่งแทบจะไม่ได้ปล่อยคาร์บอนออกมาเลย จะเป็นรถยนต์ที่มีอัตราภาษีที่ต่ำที่สุดในโครงสร้างภาษีรถยนต์ สำหรับรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์เท่ากัน

สำหรับอัตราภาษีสรรพสามิต ภาษียานยนต์ไฟฟ้า 2 รูปแบบ คือ 1.เครื่องยนต์ไฮบริด หากเป็นรถยนต์นั่งเครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,000 ซีซี เสียภาษี 8% แต่จะเสียเพียง 4% จนถึงปี 2568 และหากเครื่องยนต์มากกว่า 3,000 ซีซี จะเสียภาษี 16-26% ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอน ไดออกไซด์ แต่ระหว่างนี้จนถึงปี 2568 กรมสรรพาสามิตลดาภาษีให้ 50% และ 2.BEV หรือรถยนต์ไฟฟ้า 100% เสียภาษี 8% แต่เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า กรรมสรรพสามิตจึงให้แรงจูงใจ โดยลดลงภาษีออกเป็น 2 ระดับ คือในปี 2561-2565 เสีย 0% จาก 2% และ ปี 2566-2568 เสีย 2% 

ขณะที่ รถอีวี นำเข้าจากต่างประเทศจะเสียภาษีในอัตรา 80% ของราคาประเมิน ยกเว้นนำเข้าจากประเทศจีน ที่ไม่มีอัตราภาษี เนื่องจากเป็นข้อตกลงอาเซียน-จีน โดยขณะนี้มีค่ายเอ็มจี และ เกรทวอลล์มอเตอร์ นำเข้ารถอีวีมาทำตลาดแล้ว ขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นยังไม่มีความชัดเจน ค่ายยุโรปมีเพียงเมอร์ซีเดสเบนซ์เท่านั้นใช้วิธีการเปิดสายการผลิตในประเทศ ซึ่งจะเริ่มในปี 2565

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า กรมฯพร้อมปฏิบัติตามนโยบาลรัฐบาลหากต้องการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการลดภาษีนำเข้า ซึ่งเข้าใจว่า หากจะต้องมาตรการดังกล่าวก็คงจะกำหนดระยะเวลาการใช้เป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านการจากการใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปมาเป็นไฟฟ้า ทั้งนี้ ปัจจุบันการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศอาเซียนและจีนจะมีอัตราภาษีเป็นศูนย์อยู่แล้ว ส่วนประเทศอื่นจะเป็นอัตราภาษีปกติ

ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 2,133 คัน หดตัวลงเล็กน้อย จากปี 2563 ที่นำเข้าจำนวน 2,177 คัน โดยยอดนำเข้าในปี 2564 เป็นการนำเข้าจากจีนในสัดส่วน 54% ลดลงจากปี 2563 ที่นำเข้าจากจีน 91% เนื่องจาก มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเยอรมันเป็นสัดส่วน 20% อังกฤษ 10% และสหรัฐอเมริกาอีก 10%

เขายังกล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือพำนักในประเทศไทย โดยกรมศุลฯจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้านการพิจารณาส่งเสริมการลดภาษีสินค้านำเข้าประเภทไวน์ สุรา และ ยาสูบ ขณะนี้ กรมฯได้เสนอแนวทางการพิจารณาไปยังระดับนโยบายเรียบร้อยแล้ว โดยการพิจารณาอนุมัติมาตรการในภาพรวมนั้น ทางสภาพัฒน์จะจัดให้มีการประชุมในวันนี้(25พ.ค.)