"ไพบูลย์" จ่อหารือ ฝ่ายเลือกตั้ง "พปชร." เคาะเนื้อหาสุดท้าย แก้ "2พ.ร.ป."

"ไพบูลย์" จ่อหารือ ฝ่ายเลือกตั้ง "พปชร." เคาะเนื้อหาสุดท้าย แก้ "2พ.ร.ป."

"ไพบูลย์" รอร่างแก้รธน. ประกาศใช้ก่อนจึงยื่น ร่างแก้ไข2พ.ร.ป. ให้รัฐสภา ชี้ยังมีเวลารอ ระบุขั้นตอนทำกฎหมายช้า-เร็ว อยู่ที่การพิจารณาวาระสอง แย้มพร้อมหนุน ร่างแก้ไข ของพรรคร่วมรัฐบาล

          นายไพบูลย์ นิติตะวัน  ส.ส.บัญชีรายชื่อ ฐานะประธานฝ่ายกฎหมายและข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยถึงการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2561 ว่า หลังจากเปิดสมัยประชุมสภาฯวันที่ 1 พฤศจิกายน ฝ่ายกฎหมายของพรรค จะหารือกับฝ่ายเลือกตั้งและผู้ดูแลการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อรับฟังความเห็นรวมถึงข้อเสนอต่อการแก้ไข พ.ร.ป. ทั้งฉบับ ในการนำไปใช้ในการเลือกตั้ง ส่วนการยื่นร่างแก้ไขนั้น เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ระบุคือ จะมีเวลา90 วันนับจากวันที่ทูลเกล้าฯ คือ  4 ตุลาคม 2564 และจะครบเวลาดังกล่าว วันที่ 2 มกราคม 2565

 

          นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการยื่นร่างแก้ไข 2พ.ร.ป.ในขั้นตอนของพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องรอร่างแก้ไขของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องรับฟังความเห็นของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนขั้นตอนของกกต.ที่เสนอเนื้อหาตนไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานหรือไม่ แต่พรรคการเมืองสามารถเข้าชื่อ จำนวน 1 ใน 10 ของสมาชิกสภาฯ ได้โดยไม่ต้องรอ

          “ผมเชื่อว่าการพิจารณาร่างกฎหมายลูกของรัฐสภายังมีเวลา และทำทัน หากทำไม่ทันในสมัยการประชุมหน้า ที่จะครบกำหนดเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สามารถขอเปิดวิสามัญพิจารณาได้ หรือสามารถรอการเปิดสมัยประชุมครั้งถัดไปในปลายเดือนพฤษภาคม  ส่วนการรับฟังความเห็นขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ หลังรัฐสภาทำเนื้อหาเสร็จ มีรายละเอียดเพียงเนื้อหาที่ไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานของ กกต. เท่านั้น และศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิจารณาถ้อยคำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่จะทำให้กระบวนการทำกฎหมายช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับการพิจารณาวาระสอง คือ ชั้นกรรมาธิการ” นายไพบูลย์ กล่าว

อ่านข่าว : "หมอวรงค์" เตือนพรรคการเมืองยึด"ไพบูลย์โมเดล" เสี่ยงซ้ำรอยระบอบทักษิณ

 

          นายไพบูลย์ กล่าวถึงรายละเอียดของข้อเสนอแต่ละพรรคการเมืองที่จะเสนอแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยที่รวมกับพรรคชาติไทยพัฒนา ที่กำหนดการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ให้ใช้เศษคะแนนคำนวณนั้น เบื้องต้นในหลักการการคำนวณสอดคล้องกัน คือ นำคะแนนรวมทั้งประเทศ หารด้วย จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เพื่อหาคะแนนส.ส.พึงมี  ส่วนจะให้มีพรรคปัดเศษ หรือคิดเศษคะแนนไม่ถือเป็นสาระสำคัญ ดังนั้นสามารถรับหลักการและพิจารณาวาระสองได้ แต่ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลที่จะให้ระบบ MMP นั้น ถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าส.ส.ของพรรคพลังประะชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุน และส่วนตัวจะไม่รับหลักการ