"เปิดประเทศ" 1 พ.ย. 64 สรุปครบ รายละเอียด เงื่อนไข และประเด็นต้องจับตา!

"เปิดประเทศ" 1 พ.ย. 64 สรุปครบ รายละเอียด เงื่อนไข และประเด็นต้องจับตา!

จับตานโยบาย "เปิดประเทศ" ที่จะดีเดย์ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ชวนเช็คเงื่อนไขต่างชาติเดินทางเข้าไทยใน 5 จังหวัด (กทม., เชียงใหม่, ประจวบฯ ,เพชรบุรี, ชลบุรี) ต้องมีเอกสารรับรองอะไรบ้าง? และคนไทยต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถ้อยแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ในประเด็นเตรียม เปิดประเทศ เมื่อคืนวันจันทร์ ที่ 11 ตุลาคม 64 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง และต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระตุ้นภาคธุรกิจรายย่อยให้มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดูรายละเอียดและเงื่อนไขชัดๆ อีกครั้งว่า หากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ต้องการเข้ามาเที่ยวในไทย ตามนโยบายการ "เปิดประเทศ" ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง? รวมถึงคนไทยต้องเตรียมพร้อมรับนโยบายนี้อย่างไร?

1. เงื่อนไข “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย

สำหรับชาวต่างชาติที่มีความสนใจเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ตามนโยบาย "เปิดประเทศ" ของภาครัฐ มีเงื่อนไขและรายละเอียด ที่ต้องรู้ดังนี้

  • ต้องเป็นคนที่มาจาก 10 ประเทศที่กำหนดว่าเป็น “ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ” เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และอเมริกา เป็นต้น
  • ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว 
  • ต้องแสดงหลักฐานว่าตนปลอดเชื้อโควิด-19 เช่น ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ โดยต้องทำการตรวจจากประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย

 

2. เช็คไทม์ไลน์การ "เปิดประเทศ" และเปิดจังหวัดต่างๆ 

1 พฤศจิกายน 2564 : เปิดประเทศเฟสที่ 1 ฉีดวัคซีนครบ เข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งในเบื้องต้นรัฐประกาศให้มี 10 ประเทศ ที่เข้าไทยได้ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และอเมริกา เป็นต้น

1 ธันวาคม 2564 : เปิดประเทศเฟสที่ 2 เพิ่มรายชื่อประเทศที่ไม่ต้องกักตัวเพิ่มเติม และรัฐบาลไฟเขียวให้ร้านอาหารสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้ลูกค้านั่งดื่มในร้านได้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

1 มกราคม 2565 : เปิดประเทศเฟสที่ 3 เพิ่มรายชื่อประเทศที่ไม่ต้องกักตัวเพิ่มเติม

 

3. จังหวัดไหนเล็งเปิดให้ท่องเที่ยวบ้าง?

จากที่ภาครัฐเห็นสมควรแก่การเปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 64 ยังได้กำหนดให้ “เปิดจังหวัดท่องเที่ยว” เพิ่มเติมด้วยกัน 5 จังหวัด ในเฟส 1 ดังนี้

1. กรุงเทพฯ

2. เชียงใหม่ (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า)

3. ประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน)

4. เพชรบุรี (อำเภอชะอำ)

5. ชลบุรี (เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ)

โดยจังหวัดที่กล่าวมานี้จะต้องไม่พบการติดเชื้อโควิดใหม่ที่เป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่จนสร้างผลกระทบและความหวาดกลัวที่รุนแรงอีกรอบ

 

4. เป้าหมายฉีดวัคซีนที่รัฐกำหนด วันนี้ใกล้ถึงเป้าหรือยัง?

ศบค. มีความประสงค์ให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป้าหมาย จำนวน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 นี้

ข้อมูลล่าสุดจาก "หมอพร้อม" ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2564 เวลา 12.14 น. มีคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนสะสมประมาณ 63 ล้านโดส (63,218,738 โดส) แบ่งเป็น

เข็มที่ 1 : จำนวนประมาณ 36 ล้านโดส (36,558,870 โดส)

เข็มที่ 2 : จำนวนประมาณ 24 ล้านโดส (24,842,026 โดส)

เข็มที่ 3 : จำนวนประมาณ 1 ล้านกว่าโดส (1,816,578 โดส)

เข็มที่ 4 : จำนวนประมาณ 1,264 โดส (1,264 โดส)

เหลือต้องฉีดอีกประมาณ 37 ล้านโดส (37,420,197 โดส)

5. "เปิดประเทศ" ครั้งนี้ คนไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร?

สำหรับการประกาศ "เปิดประเทศ" ในครั้งนี้ คนไทยเองในฐานะเจ้าของบ้านก็ต้องเตรียมตัวป้องกันตนเองให้ดีเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดโควิดระบาดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาอีกระลอก 

โดยคนไทยยังคงต้องตั้งการ์ดให้สูง และปฏิบัติตามมาตรการที่ สธ. ได้เสนอแนวคิด Universal Prevention for Covid-19 เรียกได้ว่าเป็น "การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล" ได้แก่ 

1. ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

2. เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่

3. สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน

4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม ไอ จาม หรือสัมผัสวัตถุสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน

5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย หน้ากกาผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น

6. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็น (น้อยครั้งและใช้เวลาสั้นที่สุด)

7. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ

8. แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น

9. เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุกสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสำรับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว

10. หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจติดเชื้อ หรือมีอาการ ควรได้รับการตรวจด้วย ATK บ่อย ๆ เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน