ก้าวไกล ทวงสัญญานายกฯ120วันเปิดประเทศ จี้รัฐเร่ง6ข้อ

ก้าวไกล ทวงสัญญานายกฯ120วันเปิดประเทศ จี้รัฐเร่ง6ข้อ

"โฆษกพรรคก้าวไกล" ทวงสัญญา นายกฯ 14 ต.ค. ครบ 120 วัน “เปิดประเทศ” พร้อมเสนอ 6 เเนวทางจี้รัฐบาลเร่งแผนเตรียมความพร้อม

 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล พูดถึง “แผนเปิดประเทศ 120 วัน” ที่รัฐบาลเตรียม เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในเดือนพ.ย.  ว่า หากนับจากวันที่ 16 มิ.ย. 64 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้ว่าจะเปิดประเทศใน 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนด 120 วัน ในวันที่ 14 ต.ค. 64 ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบเงินกู้ 5 แสนล้าน ในสัดส่วนพรรคก้าวไกล จึงได้ให้ความเห็นว่า  

"การเปิดประเทศ เพื่อให้การค้าการขาย การหารายได้ และการทำมาหากินของประชาชน สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจะเปิดประเทศได้ หรือทำ Travel Bubble กับประเทศต่างๆ เพื่อเปิดให้การท่องเที่ยว  เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ และมีดัชนีในการพิจารณา และตรวจติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่ชัดเจน โปร่งใส  ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ไปด้วยได้

แต่รัฐบาลมีแต่แผนการเปิดประเทศ เพียงแค่แบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด และมีประมาณการคร่าวๆ ประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการต่างๆ จะไม่สามารถวางแผน และเตรียมการล่วงหน้าอย่างเหมาะสมได้ และไม่มีความมั่นใจว่า แผนการเปิดประเทศดังกล่าว จะเปิดได้จริงหรือไม่ เปิดแล้วจะปิดอีกเมื่อไหร่"

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ปัจจุบัน  มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 10,000 รายเศษ และมีผู้เสียชีวิตประมาณวันละ 60-80 ราย หากพิจารณาจากผลตรวจจากชุดตรวจ ATK ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ และการระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการระบาดที่แพร่กระจายไปยังส่วนภูมิภาค หลายจังหวัดยังมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

วิโรจน์ ย้ำว่า  การที่จะเปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมได้ รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้การระบาดของโรคโควิด-19 เป็น การเจ็บป่วยในภาวะปกติวิสัย (Normality) ที่ระบบสาธารณสุขปกติ สามารถควบคุมการระบาด และดูแลรักษาผู้ป่วยได้ โดยต้องมั่นใจว่า ไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข หรือมีแผนสำรองในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขได้โดยทันที อย่างไม่ตระหนกตกตื่น ในกรณีจำเป็น

นายวิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ถ้า Normality ไม่เกิดขึ้น การเปิดประเทศ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็จะเป็นเครื่องยนต์ที่กระตุก ติดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และประชาชนได้ การเปิดประเทศไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ คิดจะเปิดก็เปิด คิดจะปิดก็ปิด พอไม่กล้าปิด ก็ฝืนเปิด แล้วก็มาปิดแบบกะทันหัน จนสร้างความสูญเสียให้กับประชาชน พรรคก้าวไกล จึงเสนอแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำไปดำเนินการ 6 ข้อ

1.ปัจจุบันมีอัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม  อยู่ที่ 32.5%  ส่วนอัตราการฉีดวัคซีน 1 เข็ม อยู่ที่ 48.7% และมีเพียง 14 จังหวัด ที่ประชาชนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 50% ขึ้นไป รัฐบาลควรกำหนดให้ชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนเท่าใด จึงจะเข้าเกณฑ์ในการเปิดการท่องเที่ยว

2. การฉีดวัคซีนเพื่อเปิดการท่องเที่ยว รัฐบาลจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ เร่งฉีดให้กับพ่อค้าแม่ขาย และประชาชนที่อาศัยในย่านเศรษฐกิจ และ มีป้ายสัญลักษณ์ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว

3. มีมาตรการในการฉีดวัคซีน และดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างชาติ ทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย หากไม่มีระบบควบคุมที่ชัดเจน ก็เสี่ยงอย่างมากที่กลุ่มแรงงานต่างชาติ จะเป็นคลัสเตอร์ในการแพร่ระบาด ไม่จบไม่สิ้น

4. มีระบบการสุ่มตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง ที่มีชุมชนหนาแน่น ด้วยชุดตรวจ ATK โดย มีระบบที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจ ATK ได้อย่างสะดวก ในราคาถูก

5. สำรองสต๊อกยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้มีความเพียงพอ อย่างเพียงพอ และ 6. รัฐบาลต้องเร่งถอดบทเรียน และเตรียมระบบในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้พร้อมกว่าที่เป็นอยู่ ทั้ง ระบบการกักตัว Home Isolation  และต้องระบบในการรับตัวผู้ป่วยสีเหลือง/แดง มารักษาตัวและส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล  ตลอดจนการมีแผนสำรองสำรองฉุกเฉิน ที่จะเพิ่มจำนวนเตียง ในโรงพยาบาล  หากการระบาดรุนแรง

6 ข้อนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และมีการสื่อสารให้กับประชาชนทราบอย่างโปร่งใส เพราะการเปิดการท่องเที่ยว เปิดเศรษฐกิจ จำเป็นต้องทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ร่วมกันกับรัฐบาล แต่หากไม่ได้ทำการบ้านทั้ง 6 ข้อ การเปิดการท่องเที่ยว และการเปิดเศรษฐกิจ ก็จะเป็นการ “ฝืนเปิด” แทนที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ กลับกลายเป็นการลวงให้ประชาชนเดินทางมาพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อย ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หรือนำเอาเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต มาใช้ในการลงทุนฟื้นฟูกิจการ หากเปิดได้สักพัก ก็ต้องปิดอีก เพราะไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ประชาชนก็มีแต่จะสิ้นเนื้อประดาตัว