ข่าวดี! ธ.ก.ส. จ่ายค่าชดเชยใบด่างมันสำปะหลัง กว่า 141 ล้าน ช่วยเหลือเกษตรกร 5,249 ราย

ข่าวดี! ธ.ก.ส. จ่ายค่าชดเชยใบด่างมันสำปะหลัง กว่า 141 ล้าน ช่วยเหลือเกษตรกร 5,249 ราย

"เฉลิมชัย" เผยข่าวดี ประสาน ธ.ก.ส. จ่ายค่าชดเชยใบด่างมันสำปะหลังกว่า 141 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกร 5,249 รายแล้ว

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังนั้น

ล่าสุด กรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่าได้ประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการโอนเงินค่าชดเชยตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ให้แก่เกษตรกรใน 28 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ น่าน บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ลพบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี สุรินทร์ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี จำนวน 5,249 ราย พื้นที่ประมาณ 65,441 ไร่ เป็นเงินประมาณ 141.3 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ระบาด ได้แก่ 1) เกษตรกรทำลายต้นมันสำปะหลังที่ในพื้นที่พบโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 2) หลังจากเกษตรกรทำลายต้นมันสำปะหลังในพื้นที่พบโรคใบด่างมันสำปะหลังในโครงการแล้วเสร็จ 30 วัน ต้องไม่มีต้นมันสำปะหลังงอกใหม่ 3) อัตราค่าชดเชยการทำลาย เกษตรกรที่กำจัดต้นมันสำปะหลังในพื้นที่พบโรคใบด่างมันสำปะหลัง ไร่ละ 2,160 บาท และ 4) กรณีเปลี่ยนแปลงผู้ขอรับสิทธิ์ ให้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ขอรับสิทธิ์

ข่าวดี! ธ.ก.ส. จ่ายค่าชดเชยใบด่างมันสำปะหลัง กว่า 141 ล้าน ช่วยเหลือเกษตรกร 5,249 ราย

 


ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังไม่ให้ระบาดสร้างความเสียหายแก่เกษตรกร และส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จนไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและทนทานโรค เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปแบบคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ได้แก่คณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ระดับจังหวัด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ซึ่งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ระดับจังหวัด แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และคณะทำงานตรวจประเมินแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด เพื่อขับเคลื่อนโครงการในระดับพื้นที่ โดยตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูล ประเมินความเสียหาย กำกับดูแลการทำลายและการจ่ายเงินชดเชย ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับค่าชดเชยนั้นจะต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขเป็นไปตามหลักเกณฑ์ คือ เป็นเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 และได้ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเกษตรกรเจ้าของแปลงมันสำปะหลังที่พบต้นมันสำปะหลังเป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลงปลูกและทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 และผ่านการพิจารณารับรองจากคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ระดับจังหวัด และเป็นเกษตรกรที่เปิดบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ นั้นจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันในฤดูปลูกเดียวกัน และสามารถขอรับค่าชดเชยการทำลายและขอรับสนับสนุนท่อนพันธุ์ได้ แปลงละ 1 ครั้งเท่านั้น

ข่าวดี! ธ.ก.ส. จ่ายค่าชดเชยใบด่างมันสำปะหลัง กว่า 141 ล้าน ช่วยเหลือเกษตรกร 5,249 ราย
ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับค่าชดเชย ธ.ก.ส.ได้โอนเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยแล้ว สามารถตรวจสอบบัญชีได้ที่ ธ.ก.ส. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

ข่าวดี! ธ.ก.ส. จ่ายค่าชดเชยใบด่างมันสำปะหลัง กว่า 141 ล้าน ช่วยเหลือเกษตรกร 5,249 ราย