ราคาหุ้น‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’ทรุดหวั่นวัคซีนป้องกันโควิด-19 เจอคู่แข่ง

ราคาหุ้น‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’ทรุดหวั่นวัคซีนป้องกันโควิด-19 เจอคู่แข่ง

ราคาหุ้น‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’ทรุดหนักหลังยาโมลนูพิราเวียร์เป็นคู่แข่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หวั่นยาเม็ดที่กินได้ง่ายจะตีตลาดวัคซีน

ราคาหุ้นของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ และโมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ดิ่งลงอย่างหนักในวันศุกร์(1ต.ค.) หลังมีการเปิดเผยประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ในการรักษาโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ราคาหุ้นของไฟเซอร์และโมเดอร์นาดิ่งลง 3% และ 10% ตามลำดับในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทวันนี้

นายไมเคิล ยี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพของบริษัทเจฟเฟอรีส์ กล่าวว่า ราคาหุ้นของบริษัททั้งสองที่ร่วงลงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจะกลัวโควิดน้อยลง และจะลดความต้องการฉีดวัคซีน ในเมื่อมียาเม็ดที่กินได้ง่ายเพื่อรักษาโควิด

อ่านข่าว :  ด่วน! ยอด โควิด-19 วันนี้ พบติดเพิ่ม 11,375 ราย เสียชีวิต 87 ราย

ส่วนนายอาเมช อาดาลจา นักวิชาการอาวุโสจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์กล่าวว่า “ยาเม็ดที่ใช้รับประทานซึ่งสามารถลดความเสี่ยงอย่างมากในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลถือเป็นตัวพลิกเกมเลยทีเดียว เนื่องจากวิธีการรักษาโรคโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันถือว่าสร้างความยุ่งยากให้แก่แพทย์อย่างมาก ซึ่งการมียากินรักษาแบบง่ายๆจะช่วยได้มาก”

การร่วงลงของราคาหุ้นไฟเซอร์และโมเดอร์นา สวนทางการพุ่งขึ้น 11% ของราคาหุ้นบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ หลังบริษัทแถลงในวันนี้ว่า ทางบริษัทเตรียมยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) เพื่อขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในกรณีฉุกเฉิน หลังการทดลองทางคลินิกได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ
 

นอกจากนี้ เมอร์คจะทำการยื่นขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ต่อหน่วยงานด้านกฎระเบียบของประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเมอร์คระบุว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา

เมอร์ค เปิดเผยว่า ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%

ผลการทดลองในระยะที่ 3 พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จำนวนเพียง 7.3% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 14.1% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย

อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 775 คนได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการ และถูกสุ่มให้ยาโมลนูพิราเวียร์หรือยาหลอกภายในเวลา 5 วันจากที่เริ่มมีอาการ

ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน และแต่ละคนมีปัจจัยหนึ่งอย่างที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี

เมอร์ค ได้ทำการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ในระยะที่ 3 ในสถานที่มากกว่า 170 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในสหรัฐ บราซิล กัวเตมาลา อิตาลี แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

เนื่องจากยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่โปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วไป จึงทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์ก็ตาม

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์จะเล็งเป้าหมายไปที่ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความจำเป็นต่อไวรัสโควิด-19 ในการคัดลอกตัวเองเพื่อแพร่กระจายออกไป โดยยาโมลนูพิราเวียร์จะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสเกิดความผิดพลาดจนไม่สามารถขยายจำนวนมากขึ้น

เมอร์คระบุว่า ยาโมลนูพิราเวียร์จะไม่ส่งผลกระทบต่อพันธุกรรมในเซลล์มนุษย์แต่อย่างใด

ผลการศึกษาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากผู้ป่วยได้รับยาในช่วงแรกของการติดเชื้อ

ขณะนี้เมอร์คกำลังทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ร่วมกับบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ ซึ่งเป็นการทดลองในระยะที่ 3 โดยแบ่งเป็นการทดลองสำหรับยารักษา และยาป้องกันโรคโควิด-19

เมอร์ค เริ่มผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 10 ล้านเม็ดภายในสิ้นปีนี้ และจำนวนมากขึ้นในปีหน้า

แม้ว่าขณะนี้ยาโมลนูพิราเวียร์ยังไม่ได้รับการรับรองจากเอฟดีเอแต่หลายประเทศทั่วโลกก็ได้เริ่มสั่งยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คแล้ว ซึ่งรวมถึงสหรัฐ โดยทางบริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากรัฐบาลสหรัฐในการจัดส่งยาจำนวน 1.7 ล้านเม็ด

นอกจากนี้ เมอร์คระบุว่า ทางบริษัทมีแผนที่จะกำหนดราคายาโมลนูพิราเวียร์โดยอ้างอิงจากการจัดแบ่งกลุ่มประเทศต่างๆตามเกณฑ์รายได้ของธนาคารโลก เพื่อรับประกันการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์อย่างเท่าเทียมกันสำหรับประเทศต่างๆทั่วโลก