เช็ค 12 ข้อปฏิบัติ "คลายล็อก" ให้บริการ "สระว่ายน้ำสาธารณะ" เริ่ม 1 ต.ค.64

เช็ค 12 ข้อปฏิบัติ "คลายล็อก" ให้บริการ "สระว่ายน้ำสาธารณะ" เริ่ม 1 ต.ค.64

เปิด 12 ข้อปฏิบัติ "คลายล็อกดาวน์" ให้บริการ "สระว่ายน้ำสาธารณะ" ในกรุงเทพฯ เริ่ม 1 ต.ค.64 ยึดมาตรการป้องกัน "โควิด"

ภายหลังพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 43 เรื่อง "สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว" โดยประกาศ มาตรการผ่อนปรนการเปิดกิจการกิจกรรมในกรุงเทพฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค.2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง 

ทั้งนี้ ในประกาศ กทม.ฉบับที่ 43 ได้กำหนดคำสั่งแนบท้ายมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมบางประเภท เพื่อปฏิบัติตามประกาศ กทม.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เช็คข้อปฏิบัติ กทม.ฉบับเต็ม! คลายล็อกกิจการ-กิจกรรมในกรุงเทพฯ เริ่มวันนี้

"กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวมมาตรการแนวปฏิบัติป้องกัน "โควิด" ในกิจการให้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะ มีรายละเอียดดังนี้

1.ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน

2.ให้พนักงานบริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนและหลังใช้บริการว่ายน้ำ

3.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

4.ให้เว้นระยะห่างระหว่างกัน ขณะอยู่ในสระว่ายน้ำ อย่างน้อย 2 เมตร โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน

5.จัดให้มีพนักงานดูแลความปลอดภัยสระว่ายน้ำปฏิบัติงานขณะที่มีการใช้บริการ เพื่อให้คำแนะนำการใช้บริการ ลดการพูดคุยขณะอยู่ในสระว่ายน้ำ ให้บ้วนน้ำและทิ้งสารคัดหลั่งอย่างถูกวิธี

6.ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมีให้แออัด รวมทั้งให้ว่ายน้ำโดยไม่เป็นการรวมกลุ่ม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เช็คประกาศ กทม.ฉบับ 43 คลายล็อกกิจการ-กิจกรรม ในกรุงเทพฯ เริ่ม 1 ต.ค.นี้

7.ให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามที่ทางราชการกำหนด เช่น ไทยชนะ หมอชนะ หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานทดแทนในบางพื้นที่ก็ได้

8.มีมาตรการคัดกรองไข้ และอาการไอ หอบเหนื่อย จาม หรือเป็นหวัด สำหรับพนักงานและผู้ใช้บริการก่อนเข้าสระว่ายน้ำ ทั้งนี้ ให้รายงานหน่วยงานรับผิดชอบในกรณีพบผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด

9.จัดให้มีการเก็บข้อมูลและติดตามผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำ รวมทั้งควบคุมตรวจสอบคุณภาพน้ำในสระว่ายน้ำให้มีความเป็นกรด-ด่างระดับคลอรีนตกค้าง หรือการตรจสอบด้วยวิธีอื่นให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการฆ่าเชื้อโรคของสระว่ายน้ำในทุกระบบ และแสดงให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นประจำทุกวัน

10.จัดให้มีการตรวจตรา ดูแลความปลอดภัย ควบคุม กำกับการให้บริการและการใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

11.จัดให้มีการระบายอากาศภายในอาคารที่ดี รวมทั้งบริเวณห้องสุขา ห้องอาบน้ำ

12.จัดให้มีระบบคิวและมีพื้นที่รอคิวที่มีที่นั่งหรือยืน ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร