กปร. พลิก "ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว" สู่การทำเกษตรแผนใหม่

กปร. พลิก "ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว" สู่การทำเกษตรแผนใหม่

สำนักงาน กปร. พลิก "ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว" สู่การทำเกษตรแผนใหม่ควบคู่อนุรักษ์ดินและป่า

โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นโครงการที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 

ตลอดมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้ราษฎรได้เรียนรู้การทำเกษตรแผนใหม่ที่ถูกต้อง ควบคู่กับการอนุรักษ์ดินและระบบนิเวศป่าไม้ มีการส่งเสริมงานด้านศิลปาชีพการทอผ้า และปักผ้า นับเป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ที่ช่วยเหลือราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีทั้งชาวไทยพื้นราบและชาวไทยภูเขาซึ่งเป็นเผ่าม้ง มีรายได้จากอาชีพหลัก และอาชีพเสริม  ทำให้ราษฎรมีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

กปร. พลิก \"ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว\" สู่การทำเกษตรแผนใหม่
 

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ร่วมสนองพระราชดำริประสานการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อใช้อุปโภค-บริโภค  และการเกษตรในเขตโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ภูขัด  ภูเมี่ยง  ภูสอยดาว โดยการก่อสร้างฝายทดน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ  ในเขตพื้นที่ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค-บริโภค  และวางท่อส่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในโครงการฯ  และบริเวณใกล้เคียง

ขณะเดียวกันราษฎรได้ร่วมกันฟื้นฟูผืนป่าโดยน้อมนำแนวพระราชดำริ การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงการสร้างจิตสำนึกที่ตระหนักถึงความสำคัญของป่า ด้วยการให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า และคืนป่าที่รกร้างไม่ใช้ประโยชน์ให้ทางการ ทำให้ป่าค่อย ๆ ฟื้นคืนสู่ความสมบูรณ์ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนตามธรรมชาติสามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี เพียงพอต่อการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ที่ปลอดภัยจากสารพิษ อาทิ แตงกวาญี่ปุ่น มะเขือเทศโทมัส เมล่อน รวมทั้งมีรายได้จากการเข้ามาทำงานในโครงการฯ อีกด้วย 

กปร. พลิก \"ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว\" สู่การทำเกษตรแผนใหม่

ร้อยตรีวันนา วรรณไสย ประธานกลุ่มผักอินทรีย์รักษ์น้ำ เพื่อพระแม่ของแผ่นดิน โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ภายหลังจากมีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตรดีขึ้นแล้ว ราษฎรในพื้นที่ก็ได้ร่วมกันปลูกป่าเพื่อให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นโดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ ขณะเดียวกันมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนในการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ วิธีการเพาะปลูกพืชผักในโรงเรือนแบบอินทรีย์ และเสริมด้วยการปลูกไม้ผลในพื้นที่ป่า เช่น เงาะ ซึ่งในปี 2564 นี้ ได้ให้ผลผลิตและส่งขายได้แล้ว

 สำหรับรายได้ของกลุ่ม ณ ปัจจุบัน ร้อยตรีวันนา วรรณไสย เผยว่าหลัก ๆ คือการนำผลผลิตส่งขายให้กับบริษัทผู้รับซื้อโดยตรง สมาชิกทุกคนที่รวมกันผลิตพืชผักจะติดต่อสื่อสารกันภายในกลุ่มฯ ตลอดเวลา ในแต่ละวันจะรับทราบกันว่ามีผู้ใดส่งสินค้าเท่าไหร่ จากนั้นทางบริษัทก็จะทำการตรวจรับสินค้า และตอบกลับมาว่าของที่ส่งไปมีของใครบ้างรับไปเท่าไหร่ เสียเท่าไหร่ หลังจากนั้น 15 วัน ทางบริษัทก็จะโอนเงินค่าสินค้ามาให้เกษตรกร

กปร. พลิก \"ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว\" สู่การทำเกษตรแผนใหม่

 ในฐานะที่เป็นพสกนิกรของพระองค์ พวกเราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ได้เสด็จฯ เข้ามาเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่และได้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา และพระองค์ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในโครงการถึง 9 ครั้ง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้นไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ มีรายได้จากอาชีพที่มั่นคงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

กปร. พลิก \"ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว\" สู่การทำเกษตรแผนใหม่

“รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ ที่ชาวภูขัดภูเมี่ยงจะเรียกว่าสมเด็จแม่ ตลอดจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่ทรงมีพระเมตตาดูแลและติดตามพระราชดำริที่สมเด็จแม่ท่านได้วางไว้ พวกเราทุกคนต่างปลื้มปีติอย่างหาเปรียบมิได้  และทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดในผืนแผ่นดินไทย”  ร้อยตรีวันนา วรรณไสย กล่าว