"อดีตกรธ." หนุนยื่นตีความวาระ "นายกฯ" กันปัญหาต่อการบริหารประเทศ

"อดีตกรธ." หนุนยื่นตีความวาระ "นายกฯ" กันปัญหาต่อการบริหารประเทศ

อดีตกรธ. หนุนยื่นศาลรธน. ตีความดำรงตำแหน่งวาระ 8 ปี เชื่อเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการบริหาร พร้อมแสดงความเห็นส่วนตัว "ประยุทธ์" ไม่ควรได้สิทธิพิเศษ เหนือ กว่า นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

            นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีการนับวาระตำแหน่งตามที่มาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนด ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นตำแหน่ง  ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ โดยยอมรับว่าขณะนี้มีความเห็นแบ่งเป็น 3 ชุดความคิด ชุดแรก ให้นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 หลังการเลือกตั้งทั่วไป, ชุดสอง คือ นับตั้งแต่เมษายน 2560 คือ วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บังคับใช้ และ ชุดสาม คือ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 วันที่ดำรงตำแหน่งจากการยึดอำนาจ ดังนั้นตนมองว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการดำรงตำแหน่งในระยะเวลาดังกล่าว ควรรีบส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

 

            นายเจษฎ์ กล่าวด้วยว่า การควบคุมความชอบของรัฐธรรมนูญ และการกระทำต่างๆ จะมีการควบคุม 2 แบบ คือ แบบนามธรรม คือ หากมีการแสดงให้เห็นว่าจะเกิดปัญหาในทางรูปธรรม จึงต้องพิจารณาก่อน และ แบบรูปธรรม ซึ่งพบว่าใช้บ่อย เพราะเมื่อการกระทำเกิดขึ้นนั้่นมีปัญหา และที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูเคใช้การควบคุมแบบนามธรรม เช่น สมัยรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แก้รัฐธรรมนูญหลายเรื่อง เช่น ที่มาส.ว. ที่ศาลบอกว่าทำไม่ได้ หรือล่าสุดคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาฯ​ที่ถูกยื่นตีความว่าแก้ไขทั้งฉบับไม่ได้ ต้องทำประชามติก่อน ทั้งที่ร่างแก้ไขนั้นยังไม่ได้แก้ไขทั้งฉบับ

            “ผมมองว่าควรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เพื่อไม่ให้มีปัญหาว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่เกินเวลา เช่น หากนับวาระตั้งแต่สิงหาคม 2557 แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเดือนกันยายน หรือ ตุลาคม จะถือว่าเกินเวลา และมีคนว่านายกรัฐมนตรีว่าสั่งการโดยทุจริตผิดต่อหน้าที่ จะกลายเป็นความเดือดร้อน ดังนั้นต้องควบคุมเชิงนามธรรม ยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญไปเลย เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย หากนับปี 2557 จะสิ้นสุดในปีหน้าก็จบกันหรือปี 2560 จะได้ประกาศว่าอยู่ครบเทอม” นายเจษฎ์ กล่าว

 

            อดีตที่ปรึกษากรธ. กล่าวด้วยว่าสำหรับประเด็นดังกล่าว ตอนยกร่างเนื้อหา กรธ. ไม่ได้พูดอย่างชัดเจน แต่เขียนความมุ่งหมายว่า ที่ระบุระยะเวลาการครองตำแหน่งนายก เพื่อไม่ให้ผูกขาดอำนาจ อย่างไรก็ดีเจตนารมณ์ของผู้ยกร่างหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเครื่องมือแสวงหาเจตนารมณ์ และมีบ่อยครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญสอบถามกรธ. ถึงความมุ่งหมาย แต่บางครั้งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เห็นด้วย ซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติ เพราะรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมีความหมายในตัวเอง

            “ผมมองว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการปฏิวัติไม่ควรได้รับสิทธิพิเศษเหนือจากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และกรณีดังกล่าวไม่ใช่การบังคับย้อนหลังที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะหากมองแบบนั้น ตัวบทของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า เคยเป็น แสดงว่าบังคับย้อนหลังทั้งหมด และสิ่งสำคัญ ควรมองความเชื่อมโยงของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ด้วย เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ปี 2557 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 แม้จะถูกฉีก แต่ผมมองว่าความต่อเนื่องในหลักการต้องสืบต่อไป ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า8 ปีไม่ได้ ส่วนปี 25560 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามเป็นเกิน 8 ปีแม้จะเว้นวรรคหรือไม่ต้องนับรวมกัน” อดีตกรธ. กล่าว

 

            อดีต กรธ. กล่าวย้ำด้วยว่า เนื้อหาของมาตรา 158 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญ 25560  ต้องพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 ที่กำหนดให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ คำว่าอยู่ก่อนวันประกาศใช้ ตนมองว่าหากอยู่ก่อน  1 วัน หรือ 1 ปี หรือ 3 ปีจะเท่ากับว่าอยู่ก่อนวันประกาศ เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 298 ซึ่งกำหนดชัดเจนว่า ให้ ครม. ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็น ครม. ต่อไป เห็นชัดว่าได้เขีนคำว่า ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือวันที่ชัดเจนและมีวันเดียว

 

 

             “รัฐธรรมนูญ 2550 เขียนกำหนดไว้แบบนั้น เพราะมีผลของการกระทำที่ให้เป็นเผด็จการรัฐสภา จึงเขียนกำหนดไว้ ซึ่งเป็นความมุ่งหวัง ที่จะล็อกไม่ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ไม่ให้เป็นติดต่อกัน และกำหนดไว้ชัดเจนแม้จะมีรอยต่อ  ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนห้ามเป็นเกิน 8 ปี แม้จะเว้นวรรคหรือเป็นติดต่อกัน การเขียนเช่นนั้นถือว่าบล็อกคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีทุกคน อาทิ นายชวน หลีกภัย , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, นายอานันท์ ปัณยารชุน  ถ้าเป็นแบบนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องโดนด้วย” อดีตกรธ. กล่าว.