อาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ต ก่อต้นทุนทางเศรษฐกิจแค่ไหน

อาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ต ก่อต้นทุนทางเศรษฐกิจแค่ไหน

เมื่อหลายองค์กรถูกโจมตีทางไซเบอร์ และการที่หน่วยงานรัฐถูกจารกรรมข้อมูลบ่อยครั้ง สะท้อนปัญหาอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อเราทุกคน

ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวหลายองค์กรถูกโจมตีทางไซเบอร์ ทั้งข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายล้านคนที่มาไทยรั่วไหล (22 ก.ย. 2564) ฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขถูกเจาะ ทำให้ข้อมูลคนไข้นับหมื่นคนถูกขโมยไป (7 ก.ย. 2564) 

การที่หน่วยงานรัฐถูกจารกรรมข้อมูลบ่อยครั้ง สะท้อนปัญหาอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น อันตรายต่อเราทุกคน

Cybercrime Magazine ประเมินว่า ในปี 2021 ความเสียหายจากอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตทั่วโลกสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าเทียบความเสียหายคิดเป็นขนาดของ GDP พบว่าเป็นรอง GDP ของประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนเท่านั้น ขณะที่ PurpleSec LLC ระบุว่าตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า

อาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตมีหลายประเภท ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยของหน่วยงานและบุคคล เรื่องการเงิน เรื่องคุ้มครองข้อมูล ภาพโป๊เปลือย ฯลฯ จากข้อมูลของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีระบุว่า อาชญากรรมที่พบบ่อยบนอินเทอร์เน็ตมี 8 ประเภท ได้แก่

1. ด้านการเงิน เช่น แทรกแซงการประกอบธุรกรรมขององค์กรธุรกิจ แทรกแซงระบบธุรกรรมการค้าขายออนไลน์หรือ E-Commerce

2. ด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ก๊อปปี้หรือลอกเลียนผลงานที่มีลิขสิทธิ์ จำหน่ายหรือเผยแพร่ผลงานที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต

3. ด้านการเจาะระบบ เช่น เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายของผู้อื่น องค์กรอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต 

4. ด้านการก่อการร้ายทางคอมพิวเตอร์ เช่น เจาะระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัว เจาะระบบสาธารณูปโภค

5. ด้านเพศหรือภาพอนาจาร เช่น เผยแพร่ภาพอนาจารเด็ก เผยแพร่ภาพลามกอนาจารแก่เยาวชน

6. ด้านที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนหรือโรงเรียน กระทบการจัดการศึกษาและสันทนาการสำหรับเยาวชน เยาวชนเสี่ยงไม่ปลอดภัย

7. ด้านการลงทุน เช่น ชักชวนให้ประชาชนลงทุนผ่านเครือข่ายออนไลน์

8. ด้านแทรกแซงข้อมูลโดยมิชอบ เช่น นำข้อมูลที่แทรกแซง หรือหามาโดยไม่สุจริตมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว เช่น เรียกค่าไถ่

นับวันประเด็นอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตยิ่งทวีความสำคัญ ก่อต้นทุนมหาศาล และขยายตัวเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็วมีสาเหตุอย่างน้อย 5 ประการ

1)ประชาชนพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นในชีวิตประจำวัน มีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหลายชิ้น ทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้ช่องทางความเสี่ยงมากขึ้น

2)ทุกองค์กร/หน่วยงานใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและดูแลลูกค้า บันทึกข้อมูลลูกค้าเพิ่มขึ้น จึงเพิ่มช่องทางให้อาชญากรหาประโยชน์ได้มากขึ้น

3)จำนวนและความสามารถของอาชญากรเพิ่มขึ้น เนื่องจากอินเตอร์เน็ตไร้พรมแดน อาชญากรบนอินเตอร์เน็ตจึงไร้พรมแดนไปด้วย

4)ปัจจุบันมีเงินดิจิทัลหลายสกุล ทำให้การซื้อขายข้อมูลหรือเรียกค่าไถ่ทำง่าย รัฐติดตาม ตรวจสอบยาก ขณะที่อาชญากรปลอดภัยสูง

5)ปัจจุบันมี Dark Web บนอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก Dark Web คือเว็บที่ซ่อนอยู่บนอินเทอร์เน็ต ไม่เปิดเผย เว็บเหล่านี้เป็นที่ซ่อนตัวของอาชญากร เป็นที่พักของข้อมูลที่ขโมยมา เป็นตลาดกลางซื้อขายข้อมูล เป็นตลาดซื้อขายมัลแวร์ มีการประเมินว่า จำนวน Dark Web บนอินเทอร์เน็ตอาจมากกว่าเว็บทั่วไปที่เราเห็นได้ถึง 5,000 เท่า ทั้งเพิ่มต่อเนื่อง Dark Web เหล่านี้ช่วยให้อาชญากรทำงานง่าย มีที่ซื้อขายข้อมูลหลังโจรกรรมมา 

อาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตก่อต้นทุนต่อเศรษฐกิจหลายอย่าง ทำให้ข้อมูลเสียหาย ขโมยเงิน ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ขโมยข้อมูล เช่น ข้อมูลการเงิน ข้อมูลสุขภาพ ทำให้องค์กรทำงานไม่ได้ ทำให้องค์กร/บุคคลเสียชื่อเสียง ตลอดจนต้นทุนที่ต้องใช้แก้ไข กู้ข้อมูลหรือระบบให้กลับมาทำงาน ตัวอย่างการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ต เช่น สถิติองค์กรธุรกิจถูกโจมตีจากแรนซัมแวร์ จากทุก 40 วินาทีเกิดครั้งในปี 2016 เป็นทุก 11 วินาทีเกิดครั้งในปี 2021

Cybersecurity Ventures คาดว่าต้นทุนของอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2025 ต้นทุนอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตจะสูงถึง 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับผลสำรวจของ Accenture ในปี 2019 ที่สัมภาษณ์ผู้บริหาร 2,647 คน 355 บริษัท 16 อุตสาหกรรม ใน 11 ประเทศ พบว่า ทุกองค์กรจัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น

สำหรับประเทศไทย จากการจัดอันดับผ่าน Global Cybersecurity Exposure Index (CEI) 2020 ความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 38 ของโลก (จากการจัดอันดับ 85 ประเทศ) โดยอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน เป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่อยู่อันดับ 16 และ 23 ของโลกตามลำดับ 

ทั้งนี้ หากรัฐต้องการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในยุคดิจิทัล ความปลอดภัยบนอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลฯ ต้องเร่งหามาตรการคุ้มครองความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงให้มากสุด

เหมือนอย่างที่วอร์เร็น บัฟเฟต์ นักลงทุนชื่อดังเคยพูดไว้ ปัจจุบันอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติยิ่งกว่าอาวุธนิวเคลียร์เสียอีก