จี แคปปิตอล เปิดแผนปี65 แตกไลน์ธุรกิจใหม่ ศึกษาการสร้างสนามบิน เกาะเต่า

จี แคปปิตอล เปิดแผนปี65 แตกไลน์ธุรกิจใหม่ ศึกษาการสร้างสนามบิน เกาะเต่า

“จี แคปปิตอล” เปิดทิศทางธุรกิจ 2565 แตกไลน์เปิดรับพันธมิตร เซ็น MOU ศึกษาความเป็นไปได้สร้างสนามบิน “เกาะเต่า” มั่นใจศักยภาพ เชื่อหลังโควิด-19 คลี่คลาย เผยตั้งเป้าปรับโครงสร้างรายได้จากดอกเบี้ยและรายได้ค่าฟีเป็น 75:25 พร้อมย้ำเกษตรยังเป็นธุรกิจหลัก

นายอนุวัตร โกศล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP เปิดเผยถึงทิศทางบริษัทในปี 2565 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- 19 ที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจหลายอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ให้บริการทางด้านสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ บริษัทจึงต้องปรับตัวเพื่อรักษาธุรกิจในทุกๆมิติ รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจในสถานการณ์ที่แม้ว่าจะเป็นวิกฤตอย่างปัจจุบัน โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้ศึกษาการสร้างรายได้ในด้านอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างสมดุลของโครงสร้างรายได้ให้มากขึ้น รวมถึงการเปิดรับพันธมิตรใหม่ที่สนใจจะเข้าร่วมทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ
 

โดยจากการศึกษากับกลุ่มผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตร โดยล่าสุดได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกลุ่มพันธมิตร ซึ่งรายหนึ่งเป็นบริษัท เอเซีย เอวิเอชั่น แอนด์เทคโนโลยี(AAT)ที่มีอุปกรณ์ด้านการบินและบุคลากร และพันธมิตรอีกรายหนึ่งที่มีพื้นที่ที่เหมาะสมรองรับการก่อสร้างสนามบิน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินที่เกาะเต่า จังหวัดชุมพร เพราะบริษัทเล็งเห็นว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับสู่สภาวะปกติ ภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างโอกาสให้อย่างมากเพราะการท่องเที่ยวในประเทศไทย ขณะที่เกาะเต่าเป็นอีก 1 ในจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงนักท่องเที่ยวไทย ปัจจุบันการเดินทางไปยังเกาะเต่า ใช้เวลาค่อนข้างนาน การเดินทางไม่ค่อยสะดวกมากนัก หากมีสนามบินจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวได้สะดวกมากขึ้น และเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจได้อีกด้วย

"นอกเหนือจากธุรกิจสินเชื่อแล้ว เรามองการขยายไปสู่ธุรกิจอื่นเพื่อปรับโครงสร้างรายได้ให้เหมาะสม และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวแม้ขณะนี้จะได้รับผลกระทบหนัก แต่ตามที่มองกันไว้ ก็คาดการณ์กันว่าในปลายปีหน้า ภาคการท่องเที่ยวก็น่าจะกลับมาได้บ้าง ซึ่งก็ตรงกับที่เราคาดไว้ว่าหากเป็นไปตามแผนงานปลายไตรมาส 3 หรือ 1 ปีจากนี้ ก็จะสามารถเริ่มเที่ยวบินได้ จาก 5 จุดหลักๆได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต หัวหิน และอู่ตะเภา โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำแผนงานในรายละเอียดในด้านงบประมาณที่จะใช้ รวมถึงรายได้ และเมื่อได้ข้อสรุปก็จะแจ้งต่อตลาดฯอีกครั้ง ซึ่งในเบื้องต้นมองถึงจุดคุ้มทุนในกรณีพื้นฐานประมาณ 5 ปี แต่หากมีการบริหารจัดการได้ตามที่ประเมินไว้หรือดีกว่า ก็อาจจะถึงจุดคุ้มได้ใน 3 ปี รวมถึงจะมีโครงสร้างรายได้เป็นรายได้สินเชื่อ 75% และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ อาทิ รายได้จากการขายประกัน รวมถึงธุรกิจการบินจะอยู่ที่ 25%” นายอนุวัตรกล่าว

สำหรับด้านการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ กลุ่มเกษตรกร จะยังเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท โดยสัดส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อส่วนบุคคลในปัจจุบันอยู่ในระดับร้อยละ 75 และ 25 ตามลำดับ มียอดคงค้างสินเชื่อประมาณ 2,000 ล้านบาท และยังคงเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ที่ 1,000 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส 4 จะเป็น High Season สำหรับสินเชื่อเพื่อการเกษตร ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ภายใต้การผ่อนปรนจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะอยู่ที่ระดับ 0.43%