"ประธานรัฐสภา" ย้ำบ้านเมืองจะเรียบร้อย หากฝ่ายปฏิบัติยึดนิติธรรม-เสมอภาค

"ประธานรัฐสภา" ย้ำบ้านเมืองจะเรียบร้อย หากฝ่ายปฏิบัติยึดนิติธรรม-เสมอภาค

ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษหลักนิติธรรมกับการปกครอง ย้ำบ้านเมืองจะสงบ เรียบร้อย หากคนปฏิบัติยึดถือกฎหมายบังคับใช้อย่างเสมอภาค ประเมินการศึกษาคือหัวใจการเปลี่ยนแปลงการเมือง

          นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวปาฐกถาพิเศษออนไลน์ให้กับนักนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคต้น ปีการศึกษา 2564 ในรายวิชากฎหมายบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ ในหัวข้อหลักนิติธรรมกับการปกครอง โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า ตามวิถีประชาธิปไตย หลักนิติธรรม จะอยู่คู่กับการปกครอง ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลในแต่ละสาขาอาชีพส่วนสำคัญคือ ต้องยึดหลักการความถูกต้องชอบธรรม เคารพกฎหมาย ยึดหลักความเสมอภาค  จะทำให้เห็นได้ถึงการปกครองที่อยู่ภายใต้หลักนิติธรรมอย่างแท้จริง ประเทศไทยปกครองด้วยระบบกฎหมาย ดังนั้นการปฏิบัติหรือบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม ความเสมอภาค ประเทศจึงจะมีความเรียบร้อย   


          นายชวน กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติคำว่า นิติธรรม ไว้ในมาตราต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักร่วมกัน ว่าการปฏิบัติหน้าที่จำเป็นที่จะต้องยึดหลักนิติธรรม เพื่อบ้านเมือง นอกจากนั้นตนมองว่าปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือ  การศึกษา  ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่บ้านเมืองใดที่มีหลักนิติธรรมแล้วบ้านเมืองนั้นจะบังเกิดแต่ความสงบเรียบร้อย แต่การปฏิบัติโดยยืดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างแท้จริงย่อมเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งที่จะส่งผลให้บ้านเมืองนั้นมีความสงบเรียบร้อย มั่นคง และยั่งยืน

 

            "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้ระบบการปกครอง หลักแบ่งแยกอำนาจ มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ จากประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง สมควรที่จะต้องกำหนด นโยบายและวางระเบียบปฏิบัติราชการ รวมทั้งภาคเอกชน เพื่อให้การจัดระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี หรือที่เรียกกันว่าหลักธรรมาภิบาล" นายชวน กล่าว

          ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า สำหรับหลักธรรมาภิบาล มี 6 ประการ คือ 

          1. หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของตัวบุคคล

          2. หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคมและส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจน เป็นนิสัยประจำชาติ หลักนี้จะช่วยส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง 

          3. หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุง กลไกการทำงานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใสมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ อย่างตรงไป ตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการ ให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้ 

          4. หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติหรืออื่น ๆ 

          5. หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมืองและกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพ ในความคิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตน 
 

          และ 6. หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

 

          "หลักนิติธรรมเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของหลักธรรมาภิบาล  ที่เน้นย้ำให้การปกครองที่ปกครองภายใต้กฎหมาย มิใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของตัวบุคคล อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกาของข้าราชการที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง แต่ยังกระทำสิ่งผิดๆ นั้น อันเกิดจากความเกรงใจของข้าราชการต่อผู้บังคับบัญชา หรือฝ่ายการเมือง โดยเห็นว่าควรเพิ่มเติมคือ ข้อ 7.  ต้องไม่เกรงใจไปทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง" ประธานรัฐสภา กล่าว.