เกมต่อรองพปชร.-ปรับครม. ปัจจัย"ยุบสภาหรือลากยาว"

เกมต่อรองพปชร.-ปรับครม.  ปัจจัย"ยุบสภาหรือลากยาว"

เกมในสภาจะส่งต่อการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญแรงต่อรองทางการเมืองอาจขัดแย้งจนนำไปสู่การยุบสภา เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญที่เข้าสู่การพิจารณา หากสภาฯตีตก พล.อ.ประยุทธ์ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก-ยุบสภา

คำถามถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม มีมาไม่ขาดสาย และเริ่มดังมากขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก่อตัวอย่างชัดเจนหลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

โฟกัสหลักพุ่งไปที่ปม “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพปชร. ก่อหวอดโหวตล้มนายกฯ ก่อนปฏิบัติการรัฐประหารทางรัฐสภาจะโดนซ้อนแผนจน “พล.อ.ประยุทธ์” รู้ตัวทัน รวบรวมเสียงจาก ส.ส. สกัดแผนของ “ร.อ.ธรรมนัส” ได้ทันการณ์ จนนำมาสู่การปลด “ร.อ.ธรรมันส” ออกจากตำแหน่งรมช.เกษตรและสหกรณ์

แต่เนื่องจากความเคลื่อนไหวของ “ร.อ.ธรรมนัส” มีคนเบื้องหลังไฟเขียวให้เดินเกม จนพูดกันว่า “นายไม่สั่ง” คงไม่กล้าเคลื่อนโหวตล้มนายกฯ ซึ่งคนกดปุ่ม ถูกพุ่งเป้าไป “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพปชร.

แม้พ่ายศึกโหวตล้มนายกฯ แพ้เกมปลดกล่องดวงใจ แต่ “พล.อ.ประวิตร” ยังกุมอำนาจภายในพรรค พปชร. ที่เป็นเสาค้ำยันอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในการขับเคลื่อนการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการใช้เสียงในสภาโหวตกฎหมายสำคัญของรัฐบาล

โดยในช่วงเดือน ต.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์พอจะโล่งอกโล่งใจได้บ้าง เพราะปิดสมัยประชุมสภาฯ แต่พล.อ.ประยุทธ์ มีเวลาเพียง 1 เดือน ในการจัดการสถานการณ์ภายในพรรค พปชร. เพราะหลังเปิดประชุมสภาฯในต้นเดือน พ.ย. แรงต่อรองจาก “พล.อ.ประวิตร-ร.อ.ธรรมนัส” จะเพิ่มสูงขึ้นทันที

เกมในสภาจะส่งต่อการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญแรงต่อรองทางการเมืองอาจขัดแย้งจนนำไปสู่การยุบสภาก็เป็นไปได้ เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อ ที่หากสภาฯตีตก พล.อ.ประยุทธ์ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก-ยุบสภา

อ่านข่าว : ซีอีโอชี้การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ กระทบศก.ธุรกิจ แนะ ยุบสภา-ปรับครม.

กรุงเทพธุรกิจ จึงเปิดพื้นที่ให้ “ขุนพลทางการเมือง” ของแต่ละพรรคการเมืองได้สะท้อนมุมมองต่อเสถียรภาพของ “พล.อ.ประยุทธ์-รัฐบาล” เพื่อช่วยคาดการณ์สถานการณ์ของประเทศ

เริ่มกันที่ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อรายชื่อ พรรคพปชร. ประเมินว่า อยู่ครบเทอม เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลยังสามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่มีปัจจัยให้ต้องยุบสภา

นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีภารกิจสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น ตนมองว่าส.ส.ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องต้องกันว่ารัฐบาลต้องเดินหน้าต่อ

สำหรับความเคลื่อนไหวภายในพรรคพปชร. “ชัยวุฒิ” มองว่า “พล.อ.ประวิตร” สามารถแก้ปัญหาได้ และเชื่อว่าทุกคนมาเพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนได้ ไม่ได้มีเงื่อนไขอื่นที่จะแทรกเข้ามา อาจมีคนบางส่วนไม่พอใจอะไรบางเรื่อง มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน

"มันอาจจะมีโรคมาแทรกซ้อนบ้าง มีคนที่เข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้าง เปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ไปบ้าง แต่สุดท้ายคนส่วนใหญ่ในพรรคก็ยังเป็นแนวคิดเดิม คือสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ทำงานให้ประชาชน”

ขณะเดียวกันพรรคร่วมรัฐบาล ต่างยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีความเป็น “เอกภาพ” แต่ปัญหาหลักอยู่ที่พรรคพปชร. หากสถานการณ์ภายในพรรค พปชร.สามารถเคลียร์กันได้ โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมก็มีสูงลิบ

พรรคร่วมปึ๊ก-โยนพปชร.แก้ปัญหาภายใน

โดย “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย มองว่า ในเรื่องของการปรับครม.หรือกระแสการยุบสภา ที่เวลานี้มีการจับตาไปที่พรรคพปชร. ในส่วนของพรรคภท.คงไม่มีความเห็นในส่วนนี้

ส่วนที่มีการประเมินว่าการยุบสภาฯอาจเกิดขึ้นในช่วงต้นปี-กลางปีหน้าหลังจากที่ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีการบังคับใช้ “ศุภชัย” มองว่า วันนี้กฎหมายแม่คือรัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับใช้เลย แล้วจะไปพูดถึงกฎหมายลูกๆได้อย่างไร

“เรื่องอำนาจยุบสภาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ถ้าอยู่ไม่ครบก็เป็นอำนาจของนายกฯที่จะยุบสภา ในส่วนของงานสภาฯวันนี้แต่ละฝ่ายก็ทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาได้เป็นอย่างดีไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร พรรคอื่นไม่รู้แต่ภูมิใจไทยทำหน้าที่ในสภาฯอย่างสมบูรณ์”

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย เชื่อว่า สถานการณ์ในพรรคพปชร. ถ้าได้พูดคุยกันน่าจะประคับประคองสถานการณ์การเมืองไปได้ เพราะบ้านเมืองตอนนี้ยังต้องการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะ 2 เรื่องสำคัญคือ เรื่องโควิด-19 และเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ที่รัฐบาลต้องดูแลใกล้ชิด

สำหรับการยุบสภานั้น “นิพนธ์” มองว่า ภาพรวมไม่สามารถวิเคราะห์ได้ 100% เพราะรัฐบาลชุดนี้คือรัฐบาลผสม กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พรรคปชป.มีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นการปรับครม. หรือการยุบสภาก็ตาม

ปมกฎหมายไม่ผ่านจุดเสี่ยงยุบสภาฯ

ด้านพรรคร่วมฝ่ายค้าน “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองว่า โอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ครบเทอมแทบไม่มี เพราะความขัดแย้งภายในพรรค พปชร.ร้าวลึกเกินจะกลับมาประสานกันได้ คนเป็นนายกฯ ปลดรัฐมนตรีของพรรค พปชร. โดยไม่มีการแจ้งต่อหัวหน้าพรรค ในทางการเมืองถือว่าไม่ให้เกียรติกัน “ความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ยากจะต่อกันติด แม้จะเติบโตจากการเป็นทหารมาด้วยกัน แต่เมื่อมาทำงานทางการเมืองบริบทมันแตกต่างกัน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้จักการเมืองดีพอ แตกต่างจากพล.อ.ประวิตรที่บริหารการเมืองเป็น และอยู่กับเครือข่ายการเมืองมาโดยตลอด”

สำหรับไทม์มิ่งการยุบสภา ส่วนตัวมองว่าภายหลังเปิดสมัยประชุมสภาฯ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถประกาศยุบสภาได้ทุกเมื่อ เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญโดยเฉพาะ พ.ร.ก. โรคติดต่อ พ.ร.ก. กู้เงิน ซึ่งมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะขอกู้เงินเพิ่ม จะไม่ผ่านที่ประชุมสภาเพราะคะแนนเสียงของฝั่งรัฐบาลมีปัญหา และ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องรับผิดชอบ

ก้าวไกลฟันธงปรับครม.กระชับอำนาจ

“ธีรัจชัย พันธุมาศ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประเมินว่า ภาพความแตกแยกระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร มีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจผู้นำรัฐบาล ปลดคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร ถือว่าหมิ่นเกียรติพี่ใหญ่ ขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ คงคิดในใจว่า ปล่อยให้คนใกล้ชิดมาแซะอำนาจได้อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ ตัวกัดกร่อนความสัมพันธ์

“เกมชิงไหวชิงพริบในพปชร.​ตอนนี้ ต้องจับตาให้ดี เพราะ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ถือไพ่ที่เหนือกว่า ในมือคนละใบ แต่สถานการณ์ตอนนี้ ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะถือไพ่ที่เหนือกว่า เพราะมีอำนาจยุบสภา”

“ธีรัจชัย” ยังมองว่า แนวทางรัฐบาลลาออกคงไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะนิสัยของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีทางที่จะทำแบบนั้น ดังนั้นอาจจะปรับครม.เพื่อกระชับอำนาจที่ดีกว่า เพราะเขามองว่าจะทำให้คุมเกมได้ต่อ ทั้งในพปชร.และรัฐบาล และสามารถจัดทัพการเมืองได้ จะทำให้ตนเองมีอำนาจต่อไป

สำหรับพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ต้องทำอะไร และจากนี้คือการเตรียมตัวลงเลือกตั้ง เชื่อว่าทุกพรรคเป็นเหมือนกัน สัญญาณในสภาฯจากนี้เชื่อว่า ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ จะไม่ใช่เด็กดีของ พล.อ.ประยุทธ์ อีกต่อไป เพราะหากยังอยู่กับเขาจะตายไปพร้อมกัน

โพลชี้หาคนเหมาะสมนั่งนายกฯไม่ได้

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 3/2564” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,018 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 32.61 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 17.54 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาได้ดี ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

อันดับ 3 ร้อยละ 11.15 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาเคยบริหารงานได้ดี มีผลงานที่โดดเด่น ใส่ใจประชาชนและมีประสบการณ์การทำงาน อันดับ 4 ร้อยละ 11.05 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะเป็นนักบริหารงานที่ดี มีภาวะผู้นำสูง มีวิสัยทัศน์ที่ดี มองการณ์ไกล และมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน อันดับ 5 ร้อยละ 9.07 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ บริหารงานอย่างตรงไปตรงมา และมีวิสัยทัศน์ในการทำงาน