‘ไมโครซอฟท์ เปิดบิ๊กโปรเจคลุยเอเชียปั้น ‘ผู้หญิงสายเทคฯ’

‘ไมโครซอฟท์ เปิดบิ๊กโปรเจคลุยเอเชียปั้น ‘ผู้หญิงสายเทคฯ’

"ไมโครซอฟท์" เปิดบิ๊กโปรเจค "Code; Without Barriers" 9 ประเทศเอเชียรวม "ไทย" ปั้น‘ผู้หญิงสายเทคฯ’เพิ่มโอกาสการทำงานสายเทคนิคของผู้หญิง พร้อมปั้นศักยภาพให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ทั่วทั้งภูมิภาค

ไมโครซอฟท์ได้จับมือกับองค์กรพันธมิตร 13 รายจาก 9 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อประกาศเปิดตัวโครงการ Code; Without Barriers ภายใต้จุดมุ่งหมายในการลดช่องว่างทางโอกาสระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ในสายงานด้าน คลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ เทคโนโลยีดิจิทัล โดยโครงการนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสายเทคฯ หรือ สายงานด้านเทคโนโลยี นักพัฒนาซอฟต์แวร์และตำแหน่งงานเชิงเทคนิคอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า นักพัฒนาซอฟต์แวร์ในยุคนี้ นับว่าเป็นบุคลากรระดับแถวหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า และด้วยแนวคิดที่จุดประกายได้อย่างถูกจังหวะ คนในสายงานนี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของเราในอนาคตไปอย่างสิ้นเชิง อุตสาหกรรมไอทีในปัจจุบันมีศักยภาพและโอกาสมากมายที่จะเปลี่ยนโลกของเราให้ดีกว่าเดิม ดังนั้น เราจึงยิ่งต้องสนับสนุนให้บุคลากรในสายงานนี้มีความหลากหลาย สะท้อนมุมมองและแนวคิดของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น และด้วย โครงการ Code; Without Barriers นี้ เราก็มีความยินดีและภูมิใจที่จะได้เสริมศักยภาพให้ผู้หญิงทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มาร่วมกำหนดทิศทางของโลกดิจิทัลไปด้วยกัน 

องค์กรที่ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการนี้ ประกอบไปด้วย สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) จากประเทศไทย พร้อมด้วย Accenture, AvePoint, HCL Technologies, Just Analytics, MetLife, NTT Ltd, PALO IT, Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS), Simbiotik Technologies, Thoughtworks, มหาวิทยาลัย Malaysia Kelantan (UMK) และ มหาวิทยาลัย Tun Hussein Onn Malaysia (UTHM)

โดยองค์กรเหล่านี้ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งภาคการศึกษา พลังงาน การเงินการธนาคาร ภาครัฐ และเทคโนโลยี ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา และบังคลาเทศ

ไมโครซอฟท์ จะให้การสนับสนุนโครงการนี้ในรูปของการเสริมทักษะความสามารถ และการมอบใบรับรองศักยภาพเชิงเทคนิคในด้านระบบคลาวด์และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายใต้จุดมุ่งหมายที่จะขยายกลุ่มคนทำงานที่มีทักษะเชิงเทคนิคในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ องค์กรทั้ง 13 แห่งได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้ายกระดับความหลากหลายและเท่าเทียมภายในองค์กรของตน และสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับนักสร้างสรรค์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์หญิงต่อไป

ขณะที่ผู้ประกอบการหญิงในเอเชียแปซิฟิกก็จะได้พบกับกิจกรรมต่างๆ มากมาย นับตั้งแต่การจัดอีเวนท์สำหรับผู้ที่หางาน กิจกรรมแฮกกาธอน และการให้คำปรึกษาและการสนับสนุนจากผู้นำในภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ โครงการ Code; Without Barriers ยังจะดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกับชุมชนนักพัฒนากว่า 21 แห่งทั่วภูมิภาค เพื่อให้เข้าถึงนักพัฒนาได้มากกว่า 407,000 คน ทั้งในสายงานด้านข้อมูล, AI, DevOps, Java, JavaScript, Python และกลุ่มนักพัฒนาหญิง

"เราพบว่าตลาดแรงงานสายไอทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำเป็นจะต้องมีความหลากหลายที่สูงขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากในปัจจุบัน มีคนทำงานด้านข้อมูลและ AI เพียง 26% เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง ขณะที่ในด้านระบบคลาวด์ ก็มีผู้หญิงคิดเป็นอัตราส่วนเพียง 12% เท่านั้น

การจะแก้ไขสถานการณ์นี้ และผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคนี้มีวาระแห่งชาติด้านดิจิทัลที่ให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยการทําลายอุปสรรค พร้อมเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มนักพัฒนาในแต่ละองค์กรและอุตสาหกรรม โดยในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี เรามีความรับผิดชอบที่จะช่วยกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงนี้ในอนาคต และเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้มากมายที่รออยู่ หากโลกดิจิทัลของเราสามารถสะท้อนถึงความหลากหลายของสังคมได้อย่างแม่นยำและเหมาะสม" อันเดรีย เดลลา แมทเทีย ประธานของไมโครซอฟท์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริม

โครงการ Code; Without Barriers ได้เริ่มต้นเปิดตัวโครงการนำร่องกว่า 18 โครงการภายใต้ชื่อ Women in AI เพื่อเสริมทักษะและมอบประกาศนียบัตรรับรองทักษะด้าน AI ใน 8 ประเทศทั่วเอเชียแปซิฟิก ครอบคลุมการฝึกอบรมผู้หญิงราว 480 คน และการมอบใบรับรองทักษะให้กับนักพัฒนาอีก 203 คน นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้จัดกิจกรรม Cloud Skill Challenge ขึ้น โดยมีนักพัฒนาเข้าร่วมกว่า 7,617 คน

"ทีมที่มีความหลากหลายทางเพศมักจะมีความสามารถและศักยภาพในการทำงานที่ดีกว่า" จินา สมิธ, PhD นักวิเคราะห์อาวุโสด้าน DevOps และนวัตกรรมดิจิทัลของไอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว

"การเลือกผู้หญิงเข้ามาทำงานในด้านเทคโนโลยี ไม่ได้เพียงเพิ่มมุมมองใหม่ให้กับทีมงานเท่านั้น โดยงานวิจัยในระยะหลังต่างแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีศักยภาพด้านนวัตกรรมสูงกว่า และสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวม โดยโครงการอย่าง Code; Without Barriers ของไมโครซอฟท์นี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการลดช่องว่างด้านความหลากหลายนี้"

ลีแอน โรเบอร์ส ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนักพัฒนา She Loves Tech กล่าวว่า การที่ผู้หญิงเข้ามาทำงานสายเทคโนโลยีมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดีกับทั้งตัวองค์กรเองและสังคมในภาพกว้างด้วย แต่การสร้างสภาพแวดล้อมในด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อตลาดแรงงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นนี้ นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายและซับซ้อนไม่น้อย

โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งคงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับนี้ได้ เราทุกคนต่างมีความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยกันลดอุปสรรค เพิ่มศักยภาพให้ผู้หญิงได้ก้าวเข้าสู่โลกของเทคโนโลยี และเราก็มีความยินดีที่ได้เห็นทั้งธุรกิจและองค์กรหลายแห่งมาร่วมแรงร่วมใจกัน ภายใต้โครงการ Code; Without Barriers 

รศ.ดร. ธีรณี อจลากุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) กล่าวเสริมว่า ที่ GBDi เราตระหนักถึงความสําคัญของคนหนุ่มสาวในอนาคตของโลกเทคโนโลยี  หนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสําคัญคือการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาทักษะและทัศนคติไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศใด  ในการเป็นพันธมิตรกับโครงการ Code; Without Barriers เราหวังว่าจะจัดให้คนรุ่นใหม่รวมทั้งสนับสนุนให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกที่พวกเขาเองต้องการอยู่อาศัย

"โครงการนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำได้ด้วยตัวเองคนเดียว และเราก็ต้องขอขอบคุณองค์กรจากอุตสาหกรรมต่างๆ มากมายที่ได้มาร่วมแรงร่วมใจกันยกระดับทักษะความสามารถ พร้อมเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้หญิงในสายงานเชิงเทคนิคทั่วทั้งภูมิภาคนี้" แมทธิวเสริม

ก้าวต่อไปผ่านการสร้างสรรค์ AI อย่างรับผิดชอบ

ทีมงานในโครงการ Code; Without Barriers ของไมโครซอฟท์กำลังดำเนินการจัดทำเอกสารที่จะให้แนวทางกับกลุ่มนักพัฒนาในการก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ในด้านความเท่าเทียมสำหรับนวัตกรรมใหม่อย่าง AI

"กลุ่มนักพัฒนาและผู้ใช้งานต่างคาดหวังที่จะเห็นไมโครซอฟท์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในด้านการสร้างสรรค์และใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้พวกเขาสามารถส่งเสริมความหลากหลาย ลดอคติ และเพิ่มความโปร่งใสในงานที่ทำอยู่ และเราก็มั่นใจว่าโครงการ Code; Without Barriers นี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้หญิงรุ่นใหม่ในโลกของเทคโนโลยีได้สำเร็จ" แมทธิวสรุป