“พล.อ.ประวิตร” สั่ง สทนช. ลุยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมรับน้ำหลากก่อนเข้าฤดูมรสุม

“พล.อ.ประวิตร” สั่ง สทนช. ลุยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมรับน้ำหลากก่อนเข้าฤดูมรสุม

“พล.อ.ประวิตร”สั่ง สทนช. ลุยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมรับน้ำหลากก่อนเข้าฤดูมรสุมปลายปี ผวจ.ตรังยอมรับการประสานงานยังมีจุดอ่อนในเรื่องการบริหารล่าช้ากว่ากำหนด ประตูระบายน้ำเชื่อมต่อแม่น้ำตรังก่อสร้างก้าวหน้าเพียง 40% แต่ไม่กระทบต่อการระบายน้ำ

เวลา 13.00 น. 25 กันยายน 2564 ณ สำนักงานชั่วคราวโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รับคำสั่งจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ลงพื้นที่รุดติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ณ ปตร.กม.7 ต.หนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง

พร้อมด้วยนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ ตามที่มีปรากฏการณ์ลานีญ่าอ่อนๆในช่วงปลายปี

โดยกำชับให้ผู้เกี่ยวข้องทางน้ำบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชน ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พายุอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ภาคใต้จะเริ่มเข้าสู่มรสุมในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งขุดลอกคูคลอง รวมทั้งการพร่องน้ำในคูคลองและอ่างเก็บน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เรือขุด เตรียมระบบโทรมาตรไว้คอยเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบล่วงหน้า

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำตรังขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับยังต่ำกว่าตลิ่งทุกสถานี ขณะที่แหล่งน้ำในจังหวัดตรังมีความจุเก็บกักรวม 29.60 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 24.35 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง แหล่งน้ำขนาดเล็ก 150 แห่ง

โดยขณะนี้ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยงน้ำมากแต่อย่างใด สำหรับการเตรียมรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝนนี้ของโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ซึ่งประกอบไปด้วยคลองผันน้ำ ประตูน้ำ และอาคารประกอบ ปัจจุบันมีความคืบหน้าประมาณ 57%

แต่ในช่วงฤดูฝนกรมชลประทานเตรียมระบายน้ำผ่านคลองผันน้ำเมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำตรังมากว่า 300 ลบ.ม./วินาที พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ติดกับแนวคลองผันน้ำ เพื่อปกป้องน้ำท่วมเขตเมืองตรัง ต.หนองตรุด ต.บางรัก ต.นาโต๊ะหมิง

อย่างไรก็ตาม โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรังจะแล้วเสร็จประมาณปี 65 ได้ออกแบบไว้รองรับวิกฤติในอนาคตโดยสามารถรองรับการระบายน้ำได้ถึง 700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จากสถิติที่ต้องระบายน้ำสูงสุด 400 ลบ.ม./วินาที สามารถบรรเทาอุทกภัย 3 ตำบลในเขตเมืองตรังเป็นพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ เป็นแหล่งต้นน้ำ และผลิตน้ำประปาได้ปีละประมาณ 1.74 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ การทำบัญชีผันน้ำ แหล่งน้ำ หาเจ้าภาพที่แท้จริงในการเข้าควบคุม ให้จังหวัดเป็นหน่วยงานที่ชี้แจงข้อเท็จจริงในพื้นที่ว่าปัญหาหลักที่แท้จริงคืออะไร

ปี 2565 โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จต้องการให้เป็นแผนของจังหวัดมากกว่า แม้จะเป็นแผนงานของกรมชลประทาน ตนเองเป็นห่วงตอนล่างของพื้นที่จังหวัดตรัง ในพื้นที่ชันขึ้นไปไม่เป็นห่วงเท่าไหร่ ปัญหาบางอย่างซ้ำซ้อน จึงทำให้ล่าช้า อย่างโครงการที่ไม่สามารถถ่ายโอนได้

ในขณะที่ นายขจรศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ยอมรับว่าที่ผ่านมาการประสานงานยังมีจุดอ่อนในเรื่องการบริหารต่าง ๆ จึงล่าช้ากว่ากำหนด